นิด้าโพลชี้ปชช. 'เบื่อปชป.' เล่นการเมืองพูดเก่งทำไม่เป็น

นิด้าโพลชี้ปชช. 'เบื่อปชป.' เล่นการเมืองพูดเก่งทำไม่เป็น

เหตุที่แพ้เลือกตั้ง! นิด้าโพลชี้ปชช. "เบื่อปชป." เล่นการเมืองพูดเก่งทำไม่เป็น และถูกอนค.แย่งคะแนน


ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “บทเรียนและบทบาทพรรคประชาธิปัตย์” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,261 หน่วยตัวอย่าง

เกี่ยวกับบทเรียนและบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์  จากการสำรวจเมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2562) พบว่า ประชาชน  ส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.83 ระบุว่า ประชาชนเบื่อ/ไม่ชอบ วิธีการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมา ร้อยละ 18.00 ระบุว่า พรรคอนาคตใหม่แย่งฐานคะแนนเสียงไปจากพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 17.05 ระบุว่า นักการเมืองส่วนใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์พูดเก่งอย่างเดียวแต่ปฏิบัติไม่เป็น

ร้อยละ 15.31 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐแย่งฐานคะแนนเสียงไปจากพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 13.40 ระบุว่า ประชาชนเบื่อ/ไม่ชอบ ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 12.85 ระบุว่า ประชาชนเบื่อ/ไม่ชอบ วิธีการดำเนินงานทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 11.66 ระบุว่า กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียงที่ผิดพลาด ร้อยละ 11.58 ระบุว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ ร้อยละ 2.85 ระบุว่า ประชาชนเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้จึงตัดสินใจสนับสนุนพรรคอื่นแทน ร้อยละ 2.46 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ถูกโกงการเลือกตั้ง และร้อยละ 6.98 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน นโยบายของพรรคไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และพรรคไม่มีผลงานที่ชัดเจน             

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกต่อบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.17 ระบุว่า พรรคฯ มีความแตกแยกมากเกินกว่าที่จะตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างรวดเร็ว รองลงมา ร้อยละ 21.97 ระบุว่า พรรคฯ เดินเกมทางการเมืองต่อรองเพื่อตำแหน่งรัฐมนตรีที่ต้องการ ร้อยละ 17.61 ระบุว่า พรรคฯ แค่ชอบอ้างอุดมการณ์ของพรรค ร้อยละ 14.83 ระบุว่า พรรคฯ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค ร้อยละ 13.48 ระบุว่า การต่อรองทางการเมืองเป็นเรื่องปกติของทุกพรรคการเมือง ร้อยละ 7.53 ระบุว่า พรรคไม่มีบทบาททางการเมืองที่ชัดเจน ร้อยละ 5.08 ระบุว่า พรรคฯ เดินเกมทางการเมืองต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ร้อยละ 4.76 ระบุว่า พรรคฯ ไม่มีเจ้าของที่ครอบงำพรรคจึงต้องใช้เวลานานในการตัดสินใจทางการเมือง และร้อยละ 1.43 ระบุว่า พรรคฯ มีความเชี่ยวชาญเกมการเมืองในสภาเป็นอย่างมาก