'ชาญศิลป์' มั่นใจ ดีลโครงการมาบตาพุด เฟส3 ฉลุย
“ชาญศิลป์” มั่นใจ ดีลโครงการมาบตาพุด เฟส3 ฉลุย ลุ้นผลเสนอ ครม.พิจารณา คาดเดินหน้าเซ็นสัญญาทันรัฐบาลชุดนี้
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่ 1)ที่กลุ่ม ปตท. โดยบริษัทลูก คือ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (พีทีที แทงค์) ได้ร่วมกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการประมูลเพียงรายเดียวนั้น
ล่าสุด เรื่องของผลตอบแทนทางการเงินที่ทางภาคเอกชนต้องเจรจากับภาครัฐนั้น ได้ข้อยุติร่วมกันแล้ว ขั้นตอนต่อไป คาดว่า การนิคมแห่งประเทศไทย(กนอ.) จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเร็วๆนี้ และกระบวนการต่างๆ น่าจะดำเนินการได้ทันวาระของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ที่กลุ่ม ปตท.ได้ยื่นประมูลในนาม กลุ่มกิจการร่วมค้า จีพีซี ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และ China Harbour Engineering Company Limited ขณะนี้ เข้าใจว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ มีการตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาพิจารณาข้อเรียกร้องของอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับผลการประมูล ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเป็นอุปสรรค และขึ้นอยู่กับกระบวนการของภาครัฐ ที่ต้องดำเนินการไปตามกระบวนการ เพราะหากเร็วรีบดำเนินการไปโดยที่ยังมีข้อขัดแย้งอยู่ก็จะไม่ใช่เรื่องดี
นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า การลงทุนของปตท. เป็นการลงทุนตามกลยุทธ์อยู่แล้ว ที่จะมุ่งเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์น้ำมันให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และการต่อยอดปิโตรเคมีจากขั้นธรรมดาไปสู่ปิโตรเคมีขั้นสูง แต่การเข้าลงทุนทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ถือเป็นโอกาส เมื่อรัฐบาลเปิดการลงทุนในประเทศ ปตท.ก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศเป็นอันดับแรก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพราะหากโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เกิดขึ้นได้ ประโยชน์ก็เกิดกับประเทศ และเมื่อ อีอีซี เกิดขึ้นก็จะส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้คลังสินค้าปิโตรเคมีก็มากขึ้นด้วย ก็จะเป็นผลดีต่อประเทศและเศรษฐกิจ แต่การลงทุนดังกล่าวเป็นแผนระยะยาว และเป็นการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้เวลา