Trash Lucky ตอบโจทย์โลก ลุ้นโชคลด ‘ขยะทะเล’

Trash Lucky ตอบโจทย์โลก ลุ้นโชคลด ‘ขยะทะเล’

ชื่นชอบการเล่นเซิร์ฟและดำน้ำ โดยปริยายก็เลยมีใจรักทะเล หลงใหลในเกลียวคลื่น แต่ในทางกลับกันก็ได้เห็นถึงปริมาณ “ขยะทะเล” จำนวนมากมายมหาศาล

เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการก่อตั้ง “แทรชลัคกี้” (TRASH LUCKY) เจ้าของโครงการ “ขยะรีไซเคิลลุ้นโชค”


“ณัฐภัค อติชาตการ” (แนท) ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แทรชลัคกี้ จำกัด เล่าว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณปลายปีที่ผ่านมาคอนเซ็ปต์ของ “ขยะรีไซเคิลลุ้นโชค” ว่าด้วยการเปลี่ยนขยะรีไซเคิลให้เป็นตั๋วชิงโชคเพื่อลุ้นรางวัล ทำให้ผู้คนสามารถรีไซเคิลขยะและลุ้นรางวัลได้ภายในเวลาเดียวกัน


วิธีการเริ่มจากผู้เข้าร่วมโครงการต้องส่งขยะรีไซเคิลเข้ามา จากนั้นแทรชลัคกี้ก็จะนำเอาขยะไปขายให้กับทางโรงงานรีไซเคิลเพื่อนำไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบแล้วผลิตเป็นโปรดักส์ใหม่ เป็นที่มาของรายได้และแทรชลัคกี้เองก็จะนำเอารายได้ส่วนหนึ่งมาเป็นรางวัลวนลูปไปอย่างนี้ ถือเป็นการแบ่งปันรายได้กลับสู่ผู้ร่วมโครงการยิ่งมีผู้เข้าร่วมมากมูลค่ารางวัลก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันรางวัลใหญ่มีมูลค่า 5,000 บาท แต่เขาตั้งเป้าว่ามูลค่ารางวัลของแทรชลัคกี้จะต้องเพิ่มเป็น 1 ล้านบาทภายในเวลาไม่เกิน 1 ปีนับจากนี้


ในหมายเหตุว่าในช่วงเริ่มต้น แทรชลัคกี้จะเปิดรับขยะเพียง 2 ประเภท เป็นขวดพลาสติกใส และกระป๋องอะลูมิเนียมเท่านั้น เหตุผลมีอยู่ว่าเพราะเป็นขยะที่มีจำนวนเยอะ ทั้งยังซื้อง่ายขายคล่อง และจากนั้นก็จะค่อย ๆ ขยายประเภทของขยะให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงขยายพื้นที่ให้บริการมากยิ่งขึ้นด้วย


มิชั่นของแทรชลัคกี้ คือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนนำขยะไปรีไซเคิล เพื่อลดปริมาณการทิ้งขยะรีไซเคิลสู่หลุมฝังกลบและมหาสมุทร เพราะเป็นที่รู้กันว่ามหาสมุทรทั่วโลกกำลังประสบปัญหาใหญ่จาก “ขยะ” ซึ่งไทยเราเองก็ติดอันดับที่ 6 จาก 192 ประเทศทั่วโลกที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเล


"เวลานี้เรายังอยู่ในจุดเริ่มต้น เป็นแค่มินิไพล็อต ทำการทดลองกันเฉพาะในกลุ่มของเพื่อนฝูงคนรู้จักประมาณ 100 คน เป้าหมายก็คือภายใน 6 เดือนนี้เราอยากจะจับจุดให้เจอว่าลูกค้าเป้าหมายกลุ่มแรกควรเป็นกลุ่มไหน ซึ่งเบื้องต้นเรามองเป็นกลุ่มคนสายกรีน แต่เราคงต้องทำมินิไพล็อตอีกสองสามรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้ากลุ่มที่คิดว่าใช่ เวิร์คจริงไหม เราควรสร้างแรงจูงใจอย่างไร เงินรางวัลต้องเป็นเท่าไหร่ เพราะความท้าทายของเราอยู่ตรงขาเข้า จึงต้องหาทางดึงดูดให้คนสนใจแยกขยะส่งมาให้เรา "


และจากการทำมินิไพล็อตรอบแรก ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ มีเพื่อนฝูงคนคุ้นเคยส่งขยะรีไซเคิลมาให้แทรชลัคกี้จำนวน 170 กก. เกินเป้าไปจากที่ตั้งไว้แค่ 70 กก. นอกจากนี้ขยะที่ส่งมาก็ถือว่าเป็นเกรดเอคือสามารถนำเข้าวงจรรีไซเคิลได้ทั้งหมด เนื่องจากมีการแยกขยะกันตั้งแต่ต้นน้ำ ขวดพลาสติกและกระป๋องอะลูมิเนียมไม่ได้ถูกทิ้งรวมแล้วไปปนเปื้อนกับขยะอื่น ๆไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำมัน ผ้าอ้อมฯลฯ ที่กว่าคนเก็บขยะจะเก็บแล้วนำไปคัดแยกขยะรีไซเคิลก็ไม่สะอาดพอและต้องถูกทิ้งถูกฝังกลบไปในที่สุด เพราะนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลไม่ได้


อย่างไรก็ดี ยูนิคอร์นไม่ใช่เป้าหมายใหญ่ของณัฐภัค เพราะจุดมุ่งหวังของเขาก็คือ การช่วยเมืองไทยหลุดจากอันดับประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลจากอันดับ 6 ของโลกให้ลง 2-3 อันดับได้ภายในระยะเวลา 5-7 ปี แต่ถ้าในแง่ลองเทอม ก็คือ เขาต้องการทำให้ประเทศในภูมิภาคเซาท์อีสเอเชียซึ่งเป็นต้นเหตุของขยะทะเลของโลกมากที่สุดถึง 60% ลดจำนวนขยะลง


"แต่ธุรกิจจะต้องมีผลกำไร ถึงจะมีความยั่งยืน ไม่เช่นนั้นผมจะเหนื่อยกับการต้องไปเรสด์ฟันด์ตลอดเวลา เลยต้องคิดหาทางสร้างบิสิเนสโมเดลที่มีอินโนเวชั่น ที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม คน ในเวลาเดียวกันต้องสร้างผลกำไรให้กับบริษัทด้วย"


หลายคนอาจอยากทำความรู้จักผู้ก่อตั้งมากยิ่งขึ้น ณัฐภัคไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ระดับมัธยมต้น และศึกษาวิศวะไฟฟ้า ทั้งระดับปริญญาตรีและโทที่ University of Southern California จากนั้นก็ทำงานด้านการออกแบบชิฟให้กับบริษัทเอเอ็มดีประมาณ 4 ปีกว่าๆ ก็กลับมาเมืองไทยทำงานให้ธุรกิจครอบครัว (เป็นผู้แทนจำหน่ายของคูโบต้า) และก็รู้ว่าการเป็นทายาทธุรกิจไม่ใช่งานที่รัก แต่มีไอเดียคิดอยากทำธุรกิจส่วนตัวจึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้านเอ็มบีเอ ที่ INSEAD ประเทศฝรั่งเศส


"ผมมองว่าถ้าไปเรียนที่อเมริกา เน็ทเวิร์คเราก็จะจำกัดอยู่แค่ในอเมริกา แต่ถ้าเลือกไปฝรั่งเศสจะสามารถขยายเน็ทเวิร์คได้เพิ่มขึ้น แต่พอเรียนจบผมกลับเมืองไทยและเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพ โดยไปทำงานให้กับร็อคเก็ต อินเตอร์เน็ต รับตำแหน่งคันทรีเมเนเจอร์ของแอพอีซีแท็กซี่ แต่ทำไม่ถึงปีเจ้าของร็อคเก็ต อินเตอร์เน็ตก็ถอนตัวจากภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชียเพราะต้องอัดเม็ดเงินเยอะมากไม่เหมือนกับตลาดแอฟริกา ตะวันออกกลางหรืออเมริกาใต้ ผมเลยดาวน์ไซส์บริษัทและย้ายไปอยู่กับอินสไปร์ เวนเจอร์ ซึ่งตอนนั้นเขาเริ่มสร้างแอพ Deliveree เป็นเรื่องของโลจิสติกส์"


ถือเป็นการเรียนรู้โลกของสตาร์ทอัพซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายต้องการปั้นธุรกิจของตัวเอง ซึ่งณัฐภัคตั้งใจไว้ว่าจะทำงานให้ Deliveree จนกระทั่งสามารถเรสด์ฟันด์ในระดับซีรีส์เอก็จะยุติบทบาทของลูกจ้างเพื่อเริ่มต้นชีวิตผู้ประกอบการ (ที่สุดก็ระดมได้ 14.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสที่ 4 ปีพ.ศ. 2560)


"พอออกจากงานตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะสร้างธุรกิจอะไรดี ก็เลยออกท่องเที่ยวและมีโอกาสไปเล่นเซิร์ฟ ดำน้ำที่บาหลี รวมทั้งได้ไปนั่งคิด นั่งอ่านหนังสือ ไปค้นหาตัวเอง ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าตัวเองเป็นคนรักทะเล แต่เวลาที่เราไปเล่นเซิร์ฟก็จะเจอขยะในทะเลทุกครั้ง ซึ่งที่อเมริกาเจอไม่เยอะมากเท่าไหร่แต่ที่อินโดนีเซียแย่กว่าประเทศไทยมากโดยเฉพาะที่บาหลี ผมเลยคิดว่าต้องมีสักวันที่เวลาไปเล่นเซิร์ฟจะต้องไม่เจอกับขยะในทะเลอีกแล้ว เลยอยากสร้างธุรกิจที่มาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้"


โดยบังเอิญเขาได้เจอคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันก็คือ “วรวิทย์ วงษ์เล็ก” (กอล์ฟ) เวลานี้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ แทรชลัคกี้ ซึ่งวรวิทย์เคยทำงานเป็นลูกทีมของเขาสมัยทำงานอยู่อีซีแท็กซี่ และเป็นคนที่มีความสนใจในเรื่องการจัดการขยะมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เรียกว่าตั้งแต่เรียนระดับมัธยมวรวิทย์ก็เป็นคนริเริ่มโครงการ “ธนาคารขยะ” ให้นักเรียน 2,500 คน นำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วเป็นเงินสด ที่ผ่านมาเขาได้รับรางวัลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากมาย


ล่าสุด แทรชลัคกี้ เป็น 1 ในสตาร์ทอัพ 15 ทีมสุดท้ายที่ได้เข้ารอบโครงการปีที่ 17 ของ “ดีแทค แอคเซอเลอเรท” ณัฐภัค มองว่าเพราะดีแทคจะช่วยเร่งการเติบโตด้วยมีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าจะให้เขาลุยทำเองก็อาจทำได้ แต่ก็ต้องใช้พละกำลังและระยะเวลาที่มากเป็นทวีคูณ
ต้องบอกว่าโครงการนี้ดีมีประโยชน์จึงอยากจะชักชวนทุกคนมาร่วมกันลดขยะทะเล ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการโดยส่งอีเมลไปที่ [email protected] และติดความเคลื่อนไหวของกิจกรรมต่างๆได้ที่ www.facebook.com/trashlucky