จุฬาฯ เตรียมเพิ่มสีสันสามย่าน-จุฬาฯ-สยามผ่านงาน ‘กราฟฟิตี้’ เชื่อมชุมชนเข้ากับศิลปะ
ปัจจุบันพื้นที่สำหรับสร้างสรรค์ศิลปะบนกำเเพงมีน้อย เนื่องจากถูกมองว่าทำให้กำเเพงเลอะเทอะคณะศิลปะศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน “Chula Art town”
เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการทำงานเเละสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนเนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เเละ เชิญศิลปินบนกำแพงและกราฟิตี้ร่วมสร้างผลงานกว่า 50 คน
รศ.ดร.วิษณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม กำกับดูแลสำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(PMCU) กล่าวว่าปัจจุบันศิลปะแนวสตรีทมีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานน้อย เนื่องจากทำยากและคนส่วนใหญ่มองว่าทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเลอะเทอะ โครงการนี้จึงเปิดพื้นที่ให้กับศิลปินมากขึ้น นอกจากนั้นศิลปะ ‘กราฟฟิตี้’ ยังเป็นการพูดคุยกับชุมชนจากการทำงานของศิลปินที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและศิลปิน
อีกทั้งนอกจากจะทำให้เกิดแรงจูงใจให้คนทั่วไปและชุมชนสนใจศิลปะมากขึ้นแล้วเพราะศิลปะสามารถเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยได้แล้ว ภาพศิลปะแนวสตรีทยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนรู้จักพื้นที่มากขึ้นเพราะงานศิลปะจะสะท้อนความเป็นมาและเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ออกมาซึ่งแตกต่างกันและหวังจะขยายการสร้างงานศิลปะประเภทนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆด้วย
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศิลปินจะสะท้อนสภาพชีวิต การทำงาน ธุรกิจของคนในพื้นที่นั้นๆซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่า น่าสนใจ และน่าจดจำให้คนทั่วไป สามารถดึงดูดคนจากพื้นที่ต่างๆมารวมกันและท่ามกลางความวุ่นวายในเมือง ประชาชนมีโอกาสชื่นชมสิ่งสวนยงามและจรรโลงใจ อีกทั้งเป็นการแปลงเมืองให้ศิลปะใกล้ชิดกับชุมชน
ส่วน ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดี คณะศิลปศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศิลปะไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน การได้มาทำงานในพื้นที่สาธารณะถือเป็นการแนะนำศิลปะ รับใช้ชุมชนมอบของขวัญให้กับชุมชน เนื่องจากทางคณะฯ มองเห็นว่า ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“สิ่งที่เราอยากให้ชุมชนคือความใส่ใจ ความเอื้ออาทรในความเป็นอยู่ อยากให้ชุมชนมีพื้นที่พักผ่อน มีความสุขในการอยู่อาศัย ตราบใดที่มีชุมชนเราอยากทำพื้นที่ให้เป็นของขวัญ เป็นความสุข ช่วยจรรโลงใจให้กับชุมชนที่ทำธุรกิจและอาศัยอยู่ในย่านนั้น” ศ.ดร.บุษกรกล่าว
โครงการ Chula Art Town จะครอบคลุมพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน จำนวน 12 จุด สยามสแควร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯจำนวน 15 จุด และ ลิโด้ คอนเน็คท์ จำนวน 12 จุด โดยรูปแบบการวาดภาพเป็นการวาดภาพบนผนังอาคารและกำแพงในรูปแบบ Street Art ของศิลปินชื่อดังทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมโครงการจำนวน 50 คน อาทิ นเรนทร์ เรืองวงศ์, อานนท์ เนยสูงเนิน, เอเดล ฮอร์แกน และ ศิลปินนิสิตเก่าของคณะศิลปกรรมศาสตร์
ทั้งนี้ นภ พรชำนิ ผู้บริหารลิโด้ คอนเน็คชั่น กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประตูสู่ศิลปินในแขนงต่าง ดังนั้นลิโด้พร้อมจะเป็นศูนย์กลางให้เด็กรุ่นใหม่ที่มีความสามารถมีพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
อนึ่ง ในตอนนี้มีผลงาน Street Art พร้อมให้ชมแล้ว บนพื้นที่สวนหลวง-สามย่านจำนวน 6 ผลงาน คือ จุดที่ 1 บริเวณ “หลังตลาดสามย่าน” ซึ่งถือเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดของโครงการจากฝีมือของศิลปินจากจังหวังราชบุรีที่ต้องการสื่อเอกลักษณ์ของชุมชนสามย่านว่าเป็นชุมชนเก่าแก่และเป็นแหล่งรวมร้านอาหารเก่าแก่รสชาติเด็ดๆมากมาย
จุดที่ 2 ซอยจุฬาฯ 36 สร้างสรรค์โดยศิลปิน Bonus TMC เป็นภาพเสือ ราชาแห่งสัตว์ป่า ผู้นำการเปลี่ยนแปลงกำลังถือรถแทรกเตอร์ แบ็คโฮ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสามย่านที่เป็นแหล่งเซียงกง ขายเครื่องจักรกลต่างๆ
จุดที่ 3 ซอยจุฬาฯ 48 บริเวณ “ร้านอาหารจอนนี่” ผลงานของ 2 ศิลปินกราฟฟิตี้ JECKS และ Nongpopเล่าวิถีชีวิตผ่านสองคาแรกเตอร์ที่สะท้อนความเป็นอยู่ อาชีพ เชื้อชาติที่หลากหลายโดยใช้สัญลักษณ์ หรือ รูปร่างรูปทรงต่างๆช้วยผลักดันเนื้อหาให้เกิดความสนุก
จุดที่ 4 ผลงานที่สร้างสรรค์จากศิลปินสตรีทอาร์ท Mamacup711 และ Chz ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเอกลักษณ์ของย่านที่มีความโดดเด่นในเรื่องของกีฬาบนพื้นที่ระหว่างถนนอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ และสวนหลวงแสควร์
จุดที่ 5 ตั้งอยู่ที่จุฬาฯซอย 20 บนผนังตึกชั้น 2 และ 3 ของร้านส้มตำเจ๊อ้อย ที่ชาวจุฬาและชาวชุมชนสามย่านรู้จักกันดีของศิลปิน ASIN แนวคิดจากจุดเด่นของสามย่านที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารอร่อย บริบทของพื้นที่สร้างงานที่เป็นร้านส้มตำไก่ย่างเจ้าดังจึงสร้างผลงานโดยใช้การ์ตูนคาแรกเตอร์ของศิลปินเป็นรูปไก่
และจุดสุดท้าย จุฬาฯซอย 50 ผลงานจากความร่วมมือและการออกแบบของศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์รุ่น 16 ด้วยแนวความคิด Refocus: นำกลับมา พิจารณาอีกครั้ง หรือ ดึงสมาธิกลับมา หมายถึง การพยายามมองอาคารในงแง่มุมใหม่ อาคารนั้นแม้จะต้องเก่าแก่ไปตามกาลเวลาแต่คุณค่าในฐานะสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรม วิถึชีวิตและจิตวิญญาณของผู้คนในสมัยนั้นก็ยังคงเดิมเปรียบเหมือนบุคคล การเพนทควรช่วยปรับให้คนๆนั้นดูน่าชื่นชมโดยยังคงความเป็นตัวเขาไม่ใช่เพนท์แล้วทำให้เขากลายเป็คนอื่น