'ส.ว.' ถกเดือดก่อนรับร่างข้อบังคับ ปมเพิ่ม กมธ.แก้จน-ตามงานปฏิรูป
“ส.ว.” ถกเดือดก่อนรับร่างข้อบังคับ ปมเพิ่ม กมธ.แก้จน-ตามงานปฏิรูป หลังพบวางหน้าที่ซ้ำซ้อน ส่อขัดข้อบังคับ
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.62 ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุม มีมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ....หลังจากที่ กรรมการยกร่างข้อบังคับการประชุม ที่มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานกรรมการฯ ยกร่างแล้วเสร็จ จำนวน 35 คน หลังจากรับหลักการของร่างข้อบังคับการประชุมส.ว. พ.ศ....ตามที่กรรมการยกร่างฯเสนอด้วยเสียง 190 เสียง โดยมีเวลาพิจารณารวม
ทั้งนี้ ก่อนการลงมติตั้งกมธ.วิสามัญฯ ส.ว.ได้แสดงความเห็นและท้วงติงต่อเนื้อหาของร่างข้อบังคับ โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวน กมธ. สามัญฯ จำนวน 26 คณะ ซึ่งพบว่ามี กมธ.ที่เพิ่มเติมแตกต่างจากข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ที่ผ่านมา คือ กมธ.การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะประเด็นการทำหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนกับ กมธ.สามัญฯ คณะต่างๆ พร้อมเสนอให้บัญญัติเป็น กมธ.วิสามัญฯ และร่างข้อบังคับกำหนดให้มีคณะกมธ.ชุดพิเศษ เพื่อภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะกรอบอำนาจหน้าที่รวมถึงกำหนดให้รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานกมธ.ปฏิรูปประเทศฯ รวมถึงควรกำหนดให้เป็นกมธ.วิสามัญฯ เพื่อให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมเป็นกมธ.ฯ หรือ อนุกมธ.ฯ
โดย นายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว. อภิปรายทักท้วงต่อการกำหนดให้มี กมธ.การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งกำหนดพิจารณาร่างกฎหมาย กิจการ สอบหาข้อเท็จจริงและศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้อง อาทิ สิทธิ โอกาส สวัสดิการของประชาชน เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งการกำหนดอำนาจดังกล่าวถือว่าซ้ำซ้อนกับ กมธ.ชุดอื่นๆ ที่มีหน้าที่กำหนดไว้ครอบคลุม ซึ่งตนไม่เห็นด้วยที่กำหนดให้เป็น กมธ.สามัญ แต่หากเห็นว่าจำเป็นควรเขียนไว้เป็นกมธ.วิสามัญ นอกจากนั้นควรกำหนดช่วงระยะเวลาของส.ว.ที่จะดำรงตำแหน่งในกมธ. ด้วย เพราะตามข้อบังคับของส.ว. ปี 2551 เคยกำหนดวาระไว้ 1 ปี 6เดือน
ขณะที่ นายตวง อันทะไชย ส.ว. อภิปรายสนับสนุนให้นำกมธ.แก้ปัญหาความยากจนฯ บัญญัติเป็นกมธ.วิสามัญ เพราะตามอำนาจของกมธ.สามัญคณะต่างๆ มีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการซึ่งมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงต่อการแก้ปัญหาให้ประชาชน ขณะที่กมธ.ด้านการปฏิรูปประเทศฯ ที่มีหน้าที่สำคัญว่าด้วยการติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานปฏิรูป ตนไม่เห็นด้วยที่กำหนดให้รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ให้เป็นประธาน กมธ.ฯ ชุดดังกล่าว เพราะกังวลว่าจะทำให้กลายเป็นคู่ขัดแย้งขององค์กรต่างๆ เนื่องจากกฎหมายปฎิรูปมีบทลงโทษ ที่ส.ว. สามารถยื่นเรื่องถอดถอนบุคคลให้ออกจากตำแหน่ง กรณีที่ไม่ดำเนินการงานด้านปฏิรูปตามที่กฎหมายกำหนด
ทางด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. อภิปรายว่าในภารกิจของกมธ.มีความซ้ำซ้อน ที่อาจขัดต่อข้อบังคับการประชุม ที่ซ้ำซ้อนต่อการปฏิบัติหน้า โดยเฉพาะการกำหนดให้ กมธ.สามัญ มีหน้าที่ติตดามและเร่งรัดงานด้านการปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นตั้งกมธ.อีกคณะที่มีภารกิจติดตามงานปฏิรูปหรือไม่ อย่างไรก็ตามในประเด็นการกำหนดตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการที่มีภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งตนกังวลว่าจะทำให้เกิดข้อครหา เพราะประธานยกร่างข้อบังคบการประชุมวุฒิสภา ใส่ชื่อตนเองในกมธ.ดังกล่าว ทั้งนี้ตนเสนอให้การตั้งกมธ. พิจารณาร่างข้อบังคับ ไม่ควรมี ส.ว.ที่ทำหน้าที่ยกร่างข้อบังคับ หรือ หากมีไม่ควรเกิน 1 ใน 5 เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลผู้ยกร่าง และส.ว. ที่จะร่วมเป็นกมธ.พิจารณาฯ
ส่วน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. เสนอให้ร่างข้อบังคับบัญญัติวาระดำรงตำแหน่งของประธานวุฒิสภา เพียงครึ่งหนึ่งของวาระดำรงตำแหน่งของส.ว. เพื่อให้บุคคลอื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้ ในประเด็นการกำหนดวาระทำงานของกมธ.ฯ และดำรงตำแหน่งในส.ว. นั้น มีสมาชิกหลายคนอภิปรายสนับสนุน เนื่องจากเห็นว่าเพื่อทบทวนการทำงานในช่วงวารดำรงตำแหน่ง
ขณะที่ กรรมการที่ยกร่างข้อบังคับ ได้ชี้แจงในรายละเอียด อาทิ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ส.ว. ฐานะกรรมการร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ชี้แจงว่า ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรัง การตั้ง กมธ.ฯ เพื่อแก้ปัญหาเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนเข้าใจถึงเจตนารมณ์ และความห่วง รวมถึงกังวลใจ และไม่เพิกเฉยต่อคนส่วนมากของประเทศ จึงตั้งใจที่จะแตะต้องปัญหา สำหรับหลักคิดในการตั้ง กมธ.คือเป็นการคิดแบบบูรณาการ ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหามีลักษณะบูรณาการ ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมารับผิดชอบปัญหานี้ อาทิ เรื่องการศึกษา คณะกรรมาธิการฯ คณะนี้จะเข้าไปดูในเรื่องของความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา แต่จะไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ส่วนว่าด้วยกมธ. ที่กำหนดให้มี จำนวน 26 คณะ โดยมี 22 กมธ.ที่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมส.ว. ที่เคยปฏิบัติมา ได้แก่ กมธ.การกีฬา, กมธ.การเกษตรและสหกรณ์, กมธ.การคมนาคม, กมธ.การเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง, กมธ.การต่างประเทศ, กมธ.การทหารและความมั่นคงแบบองค์รวม, กมธ.การท่องเที่ยว, กมธ.การปกครองท้องถิ่น, กมธ.การบริหารราชการแผ่นดิน, กมธ.การพลังงาน, กมธ.การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส, กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและการตำรวจ, กมธ.การแรงงาน, กมธ.การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่สาร การสื่อสารสาธารณะและการโทรคมนาคม, กมธ.การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม, กมธ.การศึกษา, กมธ.การสาธารณสุข, กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กมธ.ตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล, กมธ.พาณิชย์และการอุตสาหกรรม, กมธ.การสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค, กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ
ขณะที่อีก 4 กมธ. ถือเป็น กมธ. ที่เพิ่มเติมแตกต่างจากที่ผ่านมา คือ กมธ.การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ,กมธ.พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน, กมธ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กมธ.กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และกำหนดให้มี กมธ.วิสามัญ อีกจำนวน 2 คณะ คือ กมธ.วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปฯวุฒิสภา) เพื่อประสานงานระหว่าง ส.ส., คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และ กมธ.วิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
นอกจากนั้น กำหนดให้มีหมวดว่าด้วยภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดให้เป็น กมธ.สามัญ ซึ่งตามร่างข้อบังคับ กำหนดให้ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธาน และมี กมธ.ฯ ที่ประกอบด้วย ประธานคณะอนุกมธ. ติดตามเสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศในกมธ.สามัญ และ ส.ว.อีก5คนซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาเป็นผู้เลือก พร้อมกำหนดหน้าที่ อาทิ ติดตามเร่งรัดงานปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทำประชาสัมพันธ์ผลการติดตามและเร่งรัดงานปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีขั้นตอนคือ เมื่อได้รับรายงานความคืบหน้าจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ ประธานวุฒิสภา ส่งเรื่องไปยังกมธ.ที่เกี่ยวข้องศึกษาตามประเด็น เพื่อวิเคราะห์แบบบูรณาการ ทำข้อเสนอเร่งรัดการฏิรูปเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาเป็นเรื่องด่วน ขณะเดียวกันกให้อำนาจกมธ.ฯ มีอำนาจเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามกาารทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีพบว่าหน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามแผนปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ และให้อำนาจวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่หน่วยงานรัฐทำงานไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผ่นแม่บท เพราะเป็นมติของ ครม. หรือการดำเนินการของรัฐมนตรีโดยตรง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนของการตั้งกมธ.พิจารณาข้อบังคับการประชุม ยังมีข้อถกเถียง เพราะกำหนดให้กมธ. มีสัดส่วนมาจากกรรมการยกร่างข้อบังคับ จำนวน 17 คน และ ส.ว.ที่ไม่ได้เป็นกรรมการ จำนวน 18 คน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเคยมีส.ว.ที่แสดงเจตจำนงจะขอเป็นกรรมการ มากถึง 86คน และมีข้อตกลงว่าจะให้สัดส่วนผู้ยื่นเจตจำนง เป็นกมธ.ฯ พิจารณาในวาระสอง โดยมีผู้เสนอให้ ใช้กรรมการยกร่างฯ มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 ของกมธ. หรือ 2 ใน 3 ของกมธ. จำนวน 35 คน ทำให้นายพรเพชร ขอพักการประชุมเพื่อหารือ ก่อนได้ข้อสรุป คือ ปรับสัดส่วนกรรมาธิการฯ ไปเป็น สัดส่วนจากกรรมการยกร่างฯ 1 ใน 5 หรือ 7 คน และสัดส่วนจาก ส.ว.ที่ไม่เป็นกรรมการฯ จำนวน 32 คน.