80เหยื่อแชร์ร้อง 'ดีเอสไอ' สอบบริษัทฉาวเสียหายพันล้าน อ้าง 'คนมีสี' หนุนหลัง
เหยื่อแชร์ลูกโซ่กว่า 80 ราย ร้องดีเอสไอสอบบริษัทฉาว อ้างมี "บิ๊กคนมีสี" หนุนหลัง หลอกร่วมทุนประมูลโครงการรัฐ-ธุรกิจขายตรง มีผู้เสียหายไทย-ลาวสูญเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ด้านดีเอสไอรับเรื่องไว้ตรวจสอบ
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) - น.ส.สุภาวดี พร้อมผู้เสียหายจากหลายจังหวัดและจากสปป.ลาวจำนวน 80 ราย นำเอกสารและหลักฐานเข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ ขอให้ดีเอสไอตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งมีพฤติการณ์หลอกประชาชนให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจทั้งการประมูลงานหน่วยงานรัฐ รับวางบิล, ให้คำปรึกษาด้านสินเชื่อ และธุรกิจรายย่อย การนำสินค้าเข้าออกประเทศ รวมถึงการซื้อขายเหล็ก คอร์สพัฒนาบุคลิกภาพ และอสังหาริมทรัพย์ โชว์รูมรถซุปเปอร์คาร์ และยังมีสินค้าหลากหลาย ฯลฯ โดยมีพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษ และร.ต.อ.ปิยะ รักสุกล ผ.อ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ เป็นผู้รับเรื่อง
น.ส.สุภาวดี กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะร่วมลงทุนกับบริษัทดังกล่าว ซึ่งผู้จัดการฯได้มาชักชวนให้ตนและประชาชนทั่วไปร่วมลงทุนทำธุรกิจ โดยอ้างว่าบริษัทดังกล่าวมีผู้ใหญ่ระดับสูงกองทัพให้การสนับสนุนจึงทำให้หลงเชื่อ นอกจากนี้ยังมีการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการนำเอกสารการประมูลงานจากหน่วยงานของรัฐโครงการต่างๆมานำเสนอ และมีบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายคอยประสานงาน มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนในวงเงินที่สูง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเข้าแจ้งความกับปอท.แล้วแต่คดีไม่คืบ จึงเดินทางมาร้องทุกข์กับดีเอสไอเพื่อขอให้รับคดีไว้ตรวจสอบ เนื่องจากมูลค่าความเสียหายมีสูงกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวนนี้มีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของบริษัทดังกล่าวโดยร่วมลงทุนในการประมูลงานของราชการเป็นวงเงินถึง 37.5 ล้านบาท อย่างไรก็ตามทราบว่า ขณะนี้ผจก.ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว
ผู้เสียหายรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตนถูกชักชวนให้ร่วมลงทุนกับบริษัทซึ่งอ้างว่ามีบริษัทคู่สัญญาทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนรวมกว่า 17 โครงการ การประมูลงานราชการ รับวางบิล,ให้คำปรึกษาด้านสินเชื่อ และธุรกิจรายย่อย การนำสินค้าเข้าออกประเทศ รวมถึงการซื้อขายเหล็ก คอร์สพัฒนาบุคลิกภาพ และอสังหาริมทรัพย์ โชว์รูมรถซุปเปอร์คาร์ และยังมีธุรกิจขายตรงสินค้าอีกหลายบริษัท นอกจากนี้ยังมีการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการส่งภาพใบประมูลราคาตัวจริงของหน่วยงานรัฐงานประมูลนั้นๆ มาแสดงกับผู้เสียหาย และมีการเผยแพร่ข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อ หลักและสื่อโซเชียล พวกตนได้รู้จักเพจนี้ผ่านการแนะนำต่อๆ กันมาตั้งแต่ปี 2561 ระยะแรกได้เงินปันผลตั้งแต่ 3-15% โดยผู้ลงทุนเกิน 1 ล้านบาทจะได้รับใบผู้ถือหุ้น ต่อมาในเดือนก.ย.61 บริษัทเริ่มไม่จ่ายค่าตอบแทน และไม่คืนทุนให้กับผู้เสียหายตามสัญญา แต่กลับเขียนเช็คให้กับผู้เสียหาย เมื่อนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคาร ก็ไม่สามารถขึ้นเงินได้เพราะไม่มีเงินในบัญชี
ขณะที่ผู้เสียหายอีกราย กล่าวว่า ได้รับการชักชวนให้ร่วมลงทุนผ่านโซเชียลมีเดีย เฟสบุ๊ก อินสตาแกรม และสื่อต่างๆ โดยสิ่งที่ทำให้หลงเชื่อคือมีการนำใบประมูลงานจากหน่วยงานราชการต่างๆ มาอ้างอิง ทำให้ผู้เสียหายส่วนใหญ่หลงเชื่อ เริ่มลงทุนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 และมีปัญหาในช่วงปลายปีเดียวกัน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท โดย ตัวแทนบริษัท อ้างว่าขาดสภาพคล่องสุดท้ายมีการ ชำระเงินเป็นเช็ค มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท แต่เช็คดังกล่าวไม่สามารถขึ้นเงินได้
ด้าน ร.ต.อ.ปิยะ ชี้แจงกับผู้เสียหายว่า ดีเอสไอจะรับเรื่องไว้ตรวจสอบว่าอยู่ในอำนาจที่จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เนื่องจากคดีฉ้อโกงประชาชนนั้น หากผู้เสียหายเข้าแจ้งความกับตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุแล้วคดีจะอยู่ในอำนาจของตำรวจ ส่วนกรณีที่ระบุว่า มีประชาชนประเทศเพื่อนบ้านได้รับความเสียหายการจากการถูกหลอกให้ร่วมทำธุรกิจด้วยนั้น ต้องใช้เวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเช่นกัน