ปอท.รวบไนจีเรียแก๊งสแกมเมอร์ข้ามชาติ มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท
ปอท.รวบไนจีเรียแก๊งสแกมเมอร์ข้ามชาติ มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 16 ก.ค.62 ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) พ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากย์ ผกก.1 บก.ปอท. พ.ต.ท.วิชพัลภ์ แก้วแสนชัย รอง ผกก.1 บก.ปอท. พ.ต.ท.รัฐพงศ์ แก้วยอด รอง ผกก.1 บก.ปอท. ร่วมกันจับกุม นายเบอร์ทาน ไอฟิลไวจุกกู อคีล (MR.BERTRAND IFEANYICHUKWU AKILE) ชายสัญชาติไนจีเรีย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2015/2558 ลงวันที่ 14 กันยายน 2558 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคลอื่น ร่วมกันปลอม ใช้เอกสารปลอม ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือประชาชน ร่วมกันกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยสามารถจับกุมตัวได้ที่บริเวณสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ชั้น 2 ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กทม.
การจับกุมตัวครั้งนี้สืบเนื่องจากผู้ต้องหารายนี้เป็นหนึ่งในสมาชิกตัวการสำคัญในแก๊งค์องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีพฤติกรรมเป็นผู้ทำธุรกรรมในบัญชีการเงินต่างๆ ที่สมาชิกฯ ส่งอีเมลสแกมที่มีการปรับแต่งอีเมลแอดเดสของบริษัทที่เป็นเป้าหมายไปหาลูกค้าของบริษัทต่างๆ ในการรับโอนเงิน จากนั้นจะโอนเงินต่อไปยังสมาชิกฯ เครือข่ายต่อเพื่อฟอกเงินทำให้ยากต่อการติดตามเงินกลับคืน แก๊งค์นี้จะมีนาย Sello Henry Makhetha ทำหน้าที่รับโอนเงินที่สมาชิกฯ ในเมืองไทยเบิกถอนเงินสดที่บริษัทฯ และลูกค้าของบริษัทที่เป็นเป้าหมาย โอนเงินมาให้ตามบัญชีคนร้าย ก่อนจะเบิกถอนแล้วโอนต่อไปให้นาย Sello Henry Makhetha ในต่างประเทศต่อทันที จากข้อมูลพบว่ามีการการฝากเงินสดจำนวนกว่า 120 ล้านบาท และถอนเงินสดกว่า 80 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ทางการไทย ได้จับกุมสมาชิกแก๊งค์นี้ได้แล้วจำนวน 2 ราย
อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการก่ออาชญากรรมในลักษณะการหลอกลวงทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งคนร้ายส่วนใหญ่จะเป็นชาวผิวสี กระทำเป็นขบวนการในลักษณะองค์กรอาชญากรรม ซึ่งในปี 2561 เป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่สร้างความเสียหายเป็นตัวเงินมากที่สุดประมาณ 370 ล้านบาท รายละเอียดการหลอกลวง มีดังนี้ 1.ส่งอีเมลหลอกให้ร่วมทำธุรกิจด้วย หลอกว่าได้ภาษีคืน หลอกว่าเป็นผู้โชคดีถูกรางวัล หลอกให้ช่วยเหลือแล้วจะตอบแทนด้วยเงินก้อนโต หลอกว่าคุณเป็นทายาทของมหาเศรษฐีที่เพิ่งเสียชีวิตไป โดยคนร้ายจะส่งอีเมลจำนวนมาก ไปหาเหยื่อจำนวนมาก ๆ ในอีเมลจะมีเนื้อหาเชิญชวน โน้มน้าว ทำให้เหยื่อหลงเชื่อ ทำตามข้อความเชิญชวนหรือโน้มน้าว
2.การส่งอีเมลปลอม หรือ แฮกอีเมล เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ของบริษัทคู่ค้าระหว่างประเทศ ว่า สินค้างวดต่อไปให้ชำระที่บัญชีใหม่(เป็นบัญชีที่คนร้ายหลอกลวง) หากเหยื่อไม่ได้ตรวจสอบ อาจหลงกลโอนชำระค่าสินค้าไปยังบัญชีปลอม ซึ่งมูลค่ามักจะสูงเพราะเป็นการชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ยังฝากเตือนประชาชน หากได้รับอีเมลหลอกลวงตามข้อ 1 ต้องไม่โลภ โดยให้ตั้งสติไตร่ตรองว่ามันเป็นไปได้หรือไม่ ที่อยู่ ๆ จะมีคนให้เงินเราเป็นจำนวนมาก และไม่ควรโอนเงินตามข้อมูลในอีเมล ในลักษณะดังกล่าวทุกกรณี ส่วน ตามข้อ 2 เมื่อบริษัทหรือพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการเงินได้รับแจ้งทางอีเมล ว่ามีการเปลี่ยนบัญชีการชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศ ให้ ตรวจสอบไปยังผู้เกี่ยวข้อง ทางอื่น เช่น โทรศัพท์, วีดีโอคอล ว่าจริงหรือไม่ อย่างไรแล้วคุณจะไม่ตกเป็นเหยื่อแก๊งสแกมเมอร์