นักวิชาการ ชี้ ลดความเร็วช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย อบรมความปลอดภัยทางถนนให้สื่อมวลชน หวังพลังการทำข่าวเชิงคุณภาพ เป็นกลไกช่วยลดอุบัติเหตุ ด้านนักวิชาการ ชี้ปัญหาที่สังคมต้องช่วยกันแก้ไขคือการใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด
น.ส.อัญชลี อับดุล ประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมามีการร่วมอบรมสื่อมวลชน หลักสูตรพัฒนาศักยภาพการผลิตและวิเคราะห์ข่าวความปลอดภัยทางถนน เพื่อนำไปใช้ในการรายงานข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุ จัดโดยสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิบลูมเบิร์ก ภายใต้โครงการ Bloomberg Initiative Program for Global Road Safety (BIGRS) โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งหวังให้สื่อมวลชนสร้างตระหนักในสังคม ก่อให้เกิดพฤติกรรมลดการเกิดอุบัติเหตุ เน้นการบังคับใช้กฎหมายสร้างระบบที่ปลอดภัย (Safe System) ให้กับประเทศไทย
“ทั้งนี้จะมีการขยายผลการอบรมโดยมีทุนสนับสนุนให้ผู้สื่อข่าวที่ผ่านการอบรมแล้วได้นำเสนอข่าวในรูปแบบการทำข่าวสืบสวนสอบสวน และการวิเคราะห์เจาะลึกถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุด้วย ผ่านเว็บไซต์ www.roadsafetynewstizen.com และจะเปิดการอบรมเพิ่มเติมอีกในโอกาสต่อไป” ประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย กล่าว
โดยในการอบรมมีวิทยากรมาให้ความรู้มากมาย ได้แก่ นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ซึ่งมาบรรยายหัวข้อ “เปิดเหตุผล ทำไมข่าวอุบัติเหตุต้องเจาะลึก” โดยฉายภาพให้มีเห็นวิธีการจัดเก็บสถิติอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตทางถนน รวมทั้งชี้ให้หลากหลายและความสลับซับซ้อนของสาเหตุที่นำไปสู่อุบัติเหตุทางถนนอย่างลึกซึ้ง และระบุว่าโอกาสในการลดอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้จากสื่อมวลชนช่วยกันทำข่าวให้สังคมมีความเข้าใจและเป็นจุดพลิกให้กับสังคมได้ โดยสื่อมวลชนเป็นกลไกหนึ่งใน Safe system model ในการแก้ปัญหา
ส่วนนายณัฐพงศ์ บุญตอบ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจรและกรรมการมูลนิธิไทยโรดส์ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขับรถเร็วที่เป็นปัญหาระดับต้นๆรองจากปัญหาเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการเกิดอุบัติเหตุแต่ไม่ค่อยมีการพูดถึงในสังคม และยกให้เห็นถึงปัญหาของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยว่า การขับรถในเขตเมืองถ้าเหยียบแค่ 30 กม./ชม. โอกาสที่ชนคนแล้วคนนั้นรอดมีถึง 90% เหยียบ 50 กม. /ชม. โอกาสคนรอดเหลือแค่ 10% เหยียบ 60 กม./ชม. โอกาสคนรอดเป็น 0 และชี้ให้เห็นว่าการขับ 120 กม./ชม. ถ้าเกิดอุบัติเหตุ ความแรงจะเท่ากับตกจากตึก 19 ชั้นส่วนขับ 60 กม./ชม. จะเท่ากับตกตึก 5 ชั้น และแนะนำให้ขับรถห่างจากคันหน้า 50 เมตร+ เพื่อเพิ่มระยะเบรก
ขณะที่ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา และนายมนตรี จุ้ยม่วงศรี นักข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา บรรยายในหัวข้อ “เจาะข่าวอุบัติเหตุ วิเคราะห์ลึกทำข่าวอย่างไร” โดยมีการยกเคสเหตุการณ์จริงมาให้ผู้เข้าอบรมช่วยกันต่อยอดประเด็นข่าว รวมทั้งนำผลงานข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแต่ทำในลักษณะข่าวสืบสวนสอบสวนด้วยเครื่องมือและเทคนิคที่อยู่รอบตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมทั้งแนะนำให้สื่อมวลชนควรทำข่าวในเชิงวิเคราะห์ ในเชิงคุณภาพ เพื่อทำให้ปัญหาอุบัติเหตุในเชิงโครงสร้าง ถูกแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยข่าว ที่ไม่ควรเป็นเพียงข่าวรูทีนที่รายงานเพียงเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น