ชี้ไทยลงทุนกับการศึกษามาก แต่ขาดคุณภาพ แนะเน้นสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์
ชี้ ประเทศไทยลงทุนกับการศึกษาเยอะแต่ยังให้บริการการศึกษาไม่ทั่วถึง พบปัญหาความยากจน สังคม และคุณภาพสู้ต่างประเทศไม่ได้ วิธีการสอน หลักสูตร แม้จะเขียนดีเน้นวิเคราะห์ แต่ประเมินผลสอบยังต้องท่องจำ แนะควรเน้นสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ มากกว่ามนุษย์เศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 6 ส.ค.62 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นรายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี 2561/2562 ซึ่งเป็นการดำเนินการศึกษาต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อศึกษา วิเคราะห์ สภาวการณ์และแนวโน้มการจัดการศึกษาให้สนองความต้องการตามทิศทางการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สมรรถนะการศึกษาเทียบกับต่างประเทศ และสภาพการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของไทยให้สูงขึ้น
ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวในฐานะประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นรายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี 2561/2562 ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ ว่า สังคมยุคปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในทุกด้าน ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งส่งผลต่อการจัดการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หน่วยงานจัดการศึกษาต้องเตรียมศึกษา วิเคราะห์สภาวการณ์และแนวโน้มทางการศึกษาเพื่อสะท้อนให้เห็นความเคลื่อนไหว และสภาพการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งข้อมูลในการพยากรณ์แนวโน้มและทิศทางการจัดการศึกษาในอนาคต
ทั้งนี้ เนื้อหาสาระหลักของรายงานสภาวะการศึกษาไทยฉบับนี้ คือ การสรุปวิเคราะห์ ประเมินการดำเนินการจัดการศึกษาในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันและสมรรถนะทางการศึกษาของไทยในเชิงเปรียบเทียบ บทเรียนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศอื่น แนวทางในการปฏิรูปการศึกษาในด้านครู ผู้บริหาร หลักสูตร วิธีการสอน และวิธีวัดผล รวมถึงโครงสร้างการบริหารจัดการ แนวทางการปฏิรูปการศึกษาในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล การปฏิรูปทางการเมืองและสังคม เพื่อสนับสนุนปฏิรูปการศึกษา เป้าหมายการศึกษาเพื่อชีวิตอยู่ดีมีความสุข
ดร.วิทยากร เชียงกูล ที่ปรึกษาโครงการสภาวะการศึกษาไทย ปี 2561/2562 กล่าวว่า ใจความสำคัญ 8 ด้าน ของรายงานสภาวะการศึกษาไทย ได้แก่ ด้านสภาวะการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยในปี 2561 - ครึ่งปีแรก 2562 คือ ช่วงต่อเนื่องของการปกครองโดยรัฐบาลทหาร ทีมเศรษฐกิจที่เน้นการส่งเสริมการลงทุนและการค้า กระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือน เกิดความเหลื่อมล้ำคนรวยกับคนจน แม้จะมีโครงการแก้ปัญหาคนจนแต่ก็ตาม คนที่มีเงินฝากธนาคาร 10 ล้านบาทขึ้นไป 1 แสนบัญชี คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของบัญชีทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่เด็กและเยาวชนยังมีปัญหา เนื่องจากการเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม ขณะที่การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจการเมืองต้องมองเป็นเรื่องเดียวกัน
สำหรับ ด้านสภาวะการจัดการศึกษาไทย ที่ผ่านมา มีปัญหาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ประชากรวัยเรียน 3-21 ปี ไม่ได้เรียนกว่าร้อยละ 13 หรือราว 2.08 ล้านคน นักเรียนที่ออกกลางคันช่วง ม.ปลายสูง สัดส่วนเด็กที่ไม่ได้เรียนม.ปลายกว่า ร้อยละ 30 ของประชากรวัยเดียวกัน แม้ว่าการลงทุนด้านการศึกษาจะยังคงสูง ขณะที่แรงงานร้อยละ 45.27 มีการศึกษาแค่ชั้นประถมและต่ำกว่า (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2561) ซึ่งส่งผลต่อผลิตภาพของแรงงานไทยที่ค่อนข้างต่ำ
ด้านความสามารถในการแข่งขัน และสมรรถนะทางการศึกษาของไทย แม้ไทยจะมีความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่คะแนนโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา วิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จาก สถาบัน International Institute for Management Development: IMD พบว่า สมรรถนะการศึกษาไทยอยู่ลำดับที่ 56 จาก 63 ประเทศ รวมถึงผลการทดสอบแบบสุ่มตัวอย่างนักเรียนอายุ 15 ปี ใน 3 วิชา โครงการ PISA ของกลุ่มประเทศ OECD ไทยยังคงได้คะแนนเฉลี่ยและลำดับ 57 จาก 70 ประเทศ (ปี 2558) ขณะที่ การวัดดัชนีพัฒนามนุษย์ United Nations Development Programme : UNDP 2018 พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับ 83 จาก 200 ประเทศ
“นอกจากเศรษฐกิจแล้ว ต้องดูดัชนีการพัฒนามนุษย์และดัชนีการพัฒนาของเด็กและเยาวชนด้วย ซึ่งจากการจัดอันดับของไทยอยู่ที่ 83 แย่กว่าคิวบา ซึ่งยากจนกว่าเรา แต่มีระบบสาธารณสุขดีกว่า ดังนั้น จะมองเพียงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างคนที่มีคุณภาพ”
ดร.วิทยากร กล่าว
สำหรับ ด้านปัญหาหลักของการศึกษาไทยแบ่งได้ 3 เรื่อง คือ 1. โครงสร้างการบริหารแบบราชการรวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงกลาง ใหญ่โตแต่ขาดประสิทธิภาพ กลายเป็นทำงานเพื่ออำนาจผลประโยชน์ของข้าราชการมากกว่าผลสัมฤทธิ์นักเรียน 2. ครูอาจารย์ได้รับการอบรมมาแบบเก่า จดจำข้อมูลเพื่อสอบ สอนตามหลักสูตรแบบเก่า และ 3. หลักสูตรการเรียนการสอน ควรเปลี่ยนเป็นแนวใหม่ มุ่งให้ผู้เรียนวิเคราะห์เป็น เรียนรู้ด้วยตัวเอง รู้จักแก้ปัญหา ฝึกปฏิบัติ เรียนรู้จากโลกของการทำงานจริง
“การศึกษาขึ้นอยู่กับครูอาจารย์ ประเทศฟินแลนด์ หรือ สิงคโปร์ ทำไมเขาคัดคนเก่งๆ ไปเรียนครู เพราะเขามองว่าครูสำคัญ เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ไม่ใช่เอาแต่ปริมาณ เพื่อให้เห็นว่าลงทุนเรื่องการศึกษาเยอะ แต่ต้องมีคุณภาพ” ดร.วิทยากร กล่าว
ด้านบทเรียนการปฏิรูปการศึกษาจากประเทศอื่น ประเทศและเขตเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา เช่น ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ผู้นำและประชาชนให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ มีการกระจายทรัพย์สิน รายได้ เป็นธรรม กระจายทั้งงบประมาณ อำนาจการบริหารจัดการ ความรับผิดชอบไปสู่ท้องถิ่น รวมถึงการฝึกอบรมครู ประเทศญี่ปุ่น ครูใหม่มีครูพี่เลี้ยงดูแล ฝึกการทำงานเป็นทีม ด้านหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผล เน้นการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา เพื่อให้ออกไปทำงานในโลกจริง รวมถึงพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น
“การสอนเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ถูกละเลย การศึกษาไม่ใช่เพื่อสร้างมนุษย์เศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ต้องเป็นภาพรวมการศึกษาทั้งหมด ไม่ใช่เน้นการทำมาหากินเพียงอย่างเดียว”
ด้านการปฏิรูปการศึกษาในโลกยุคดิจิทัล สิ่งที่น่ากลัว คือ การสร้างหุ่นยนต์ทำงานแทนคน เกิดคำถามว่าจะมาแย่งงานคนหรือไม่ ดังนั้น ต้องปรับตัวเรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ว่าจะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้อย่างไร หรือทำงานส่วนที่หุ่นยนต์ทำได้ไม่ดีพอ ต้องเรียนรู้ 2 ด้าน คือ ด้านเทคนิค และ พัฒนาความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่าปัญญาประดิษฐ์ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความฉลาดทางอารมณ์และสังคม
ในส่วนของ ปัจจัยด้านการเมืองและสังคมที่จะสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล การศึกษาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ อยู่ที่ฝีมือ ความเข้าใจ ดังนั้น ต้องพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการผลักดันด้านการศึกษา ต้องผลักดันการพัฒนาสังคมทั้งระบบ ให้ได้ผู้นำที่มีคุณภาพในทุกระดับ ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม กระจายรายได้ บริการทางสังคม ไปสู่ชุมชนทุกหมู่เหล่าอย่างเป็นธรรม
ทั้งนี้ ภาพรวมการปฏิรูปการศึกษาไทยที่ควรเป็น ดร.วิทยากร ให้ความเห็นว่า ควรมีเป้าหมายกว้างไกล มากกว่าการสร้างมนุษย์ทางเศรษฐกิจ ที่มุ่งแข่งขันหาเงินและบริโภค ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งความรู้ ทักษะการทำมาหากิน ความฉลาด ทักษะด้านอารมณ์ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนามนุษย์ที่สำคัญที่สุด เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพื้นฐานวัฒนธรรมในการรวมหมู่เข้มแข็ง
ด้าน ดร.พรชัย อินทร์ฉาย รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้การศึกษาดีขึ้นเกี่ยวข้องกับทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ จะทำอย่างไรให้ภาคเอกชนร่วมมือกับรัฐบาล โรงเรียนประถมเอกชนทำดีกว่ารัฐบาลมาก ดังนั้น รัฐต้องสนับสนุนเอกชนให้เติบโต
“ขณะที่ มาตรฐานการผลิตครูเราจริงจังกันแค่ไหน หากไม่พร้อมอย่าเป็นครู เลิกพูดได้แล้วว่าผิดเป็นครู เพราะครูต้องพร้อม 100% สิงคโปร์ ฟินแลนด์ เกาหลี เขาให้ความสำคัญมาก เราไปหลอกเด็กไม่ได้ เพราะเด็กจะเก่งกว่า การเป็นโค้ช ต้องมีความรู้ดี วิพากษ์ได้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องมีทักษะเพียงพอ มีจิตวิทยาเข้าใจเด็ก ต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้ครูใหม่ที่จะไปเป็นครูในอนาคตมีศักยภาพ” ดร.พรชัย กล่าวเพิ่มเติม
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องมองสภาวะการศึกษาเชื่อมโยงกับตลาดแรงงาน เด็กหลังจากออกจากสถานศึกษาไปแล้วความพร้อมของเขาเป็นอย่างไร ความพร้อมสู่โลกของงานหรือความพร้อมในการเรียนต่อเพื่อดูการสัมฤทธิ์ผล เพราะคนจบมาก ไม่ใช่ว่าตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ปัจจุบัน ตลาดแรงงาน 100 คน มีแค่ 14 คนที่เป็นแรงงานฝีมือ ขณะที่สิงคโปร์ มีกว่า 45-50 % ดังนั้น ต้องดูว่าเราจะไปอย่างไร รวมถึงการเตรียมพร้อมเด็กเชื่อมโยงสู่โลกเทคโนโลยีในอนาคต