ติดตามสถานการณ์ไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด ยืนควบคุมสถานการณ์ได้
กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์ไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะระบาดในภูมิภาคอาเซียน แต่ในประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
วันนี้ (9 สิงหาคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยให้หน่วยงานในสังกัดประสานงานเร่งรัดการปฏิบัติและติดตามผลการป้องกันควบคุมโรคควบคู่กันไปเพื่อให้ได้ผลอย่างต่อเนื่อง และมีแนวทางให้ชาวบ้านจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงลายเกิดและกัดได้ ทำให้สถานการณ์การเกิดโรคชะลอตัวลงสามารถควบคุมได้ และจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในหลายพื้นที่ลดลง และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ดำเนินกิจกรรมป้องกันโรคได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำ เช่น แม่ฮ่องสอน นครนายก สมุทรสงคราม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อควบคุมโรคอย่างเข้มข้นจริงจัง ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทำให้การเกิดโรคชะลอลง ลดลง หรือจนควบคุมได้ในที่สุด แต่ทุกพื้นที่ยังต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ต่อไป
ในช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ที่พบผู้ป่วยมากเช่นกัน อาทิ ประเทศฟิลิปปินส์ พบผู้ป่วยกว่า 1.4 แสนราย เสียชีวิตกว่า 600 ราย (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก) ซึ่งในแถบประเทศอาเซียนนี้พบโรคไข้เลือดออกได้ 4 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความรุนแรงไม่แตกต่างกันมาก ส่วนอาการป่วยขึ้นอยู่กับว่า เคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรง อาจมีไข้ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองด้วยสายพันธุ์ที่ต่างไป ซึ่งจะทำให้มีภาวะเลือดออกและช็อกได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทย สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 6 สิงหาคม 2562 พบผู้ป่วย 64,159 ราย เสียชีวิต 72 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในปีนี้พบในกลุ่มเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น พบมากสุดคือกลุ่มอายุ 5 - 14 ปี รองลงมา 15 - 34 ปี และแรกเกิด - 4 ปี ตามลำดับ ซึ่งในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข ได้จับมือทำบันทึกความร่วมมือ MOU กับ 8 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เน้นย้ำในการรณรงค์เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำและยุงลาย โดยมีการบริหารจัดการ MOU จำเพาะของกรมควบคุมโรค กับ กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น สั่งการให้องค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศในการเข้าถึงประชาชนของตนเอง มีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นแกนนำในการรณรงค์ให้ชาวบ้านเกิดความรับผิดชอบบ้านตนเอง และชุมชนตนเอง เป็นต้น
ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บขยะ เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
ทั้งนี้ หากมีอาการคล้ายไข้หวัด และมีอาการไข้สูงเฉียบพลันในตอนแรก อย่าซื้อยารับประทานเองเพราะอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษาภายหลังและมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น เพราะยาบางชนิด เช่น ไอบรูโปรเฟน หรือแอสไพริน อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น การรักษาในระยะต้นที่มีไข้สูงใน 1-2 วันแรกไม่เป็นอันตรายใดๆ เว้นแต่ในรายที่ไม่ยอมหายหลังจากไข้ลด โดยช่วงไข้ลดมีอาการซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา อาจมีเลือดไหล ที่โพรงจมูก อาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบกลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลให้ทันท่วงที มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้ภายใน 48 ชั่วโมงหรือ 2 วัน ประชาชน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422