รายงาน: ยุทธศาสตร์ชาติ ทส. จากกรอบคิดสู่การปฏิบัติ
นับตั้งแต่รัฐบาลได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 25และ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลได้จัดทำนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รวมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลได้จัดให้เป็นหนึ่งในนโยบายหลัก 12 ด้าน
ความท้าทายหลังจากนี้ จึงอยู่ที่การแปลงกรอบคิดของชาตินี้ไปสู่การปฏิบัติผ่านแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นในระดับกระทรวง และที่สำคัญคือระดับปฏิบัติการคือกรมกองต่างๆ ว่าจะเข้าใจและถ่ายทอดกรอบคิดไปสู่แผนปฏิบัติราชการของตนได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร
ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร หัวหน้าภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติได้วางเป้าหมายการพัฒนาประเทศไว้ชัดเจนโดยให้งานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก โดยได้กล่าวถึงไว้ในท้ายของประโยค “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม และ “ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน”
เมื่อแปลงมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน งานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงถูกวางไว้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักคือ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ว่าด้วยการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในประเด็นที่ท้าทายเป็นอย่างสูงของงานด้านนี้คือ งานด้านการจัดการป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่ง ดร.ขวัญชัยซึ่งเป็นผู้เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติเข้ากับงานปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรทางบกอธิบายว่า ส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งที่มีเป็นวงกว้าง และที่สำคัญคือเกี่ยวเนื่องกับคนจำนวนมากที่สามารถเป็นพลังทางการเมืองหากถูกใช้โดยฝ่ายการเมือง และสามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างในระดับประเทศได้
“พื้นที่ป่าของเรามีคนเกี่ยวข้องอาจมากถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรได้ เอาแค่คนที่อยู่กับป่าก็มีหลายล้านคนแล้ว เค้าเป็นพลังที่สูงมากทางการเมือง ดังนั้น เรื่องป่าไม้ก็คือเรื่องความมั่นคงของประเทศที่ต้องพิจารณา” ดร.ขวัญชัยกล่าว
จากการวิเคราะห์ของ ดร. ขวัญชัย งานด้านป่าไม้และสัตว์ป่านอกเหนือจากจะถูกระบุไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 5 แล้ว ยังถูกระบุในยุทธศาสตร์ด้านความมั่งคง และที่สำคัญคือด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งได้ระบุไว้อย่างชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเขตพื้นที่ป่าทับซ้อนพื้นที่ทำกินของประชาชน และการรับรองสิทธิชุมชนในการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน ภายใต้หัวข้อการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทุกมิติ
อย่างไรก็ดี ดร.ขวัญชัยมองว่า ยุทธศาสตร์ชาติ แม้จะเขียนไว้โดยหวังผลสัมฤทธิ์สูง แต่ก็ยังเป็นเพียงกรอบกว้างๆ ที่ต้องการการเชื่อมโยงระดับนโยบายไปสู่ระดับปฏิบัติเพื่อความครอบคลุมและครบถ้วนเมื่อลงรายละเอียดการทำงาน
นโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำลังได้รับการจัดทำและนำเสนอคณะรัฐมนตรี จึงเป็นกลไกใหม่ที่สำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างนโยบายและการปฏิบัติตามนโยบายนี้ ผ่านแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติที่จะช่วยวางกรอบงานให้ชัดเจนก่อนจะแปลงไปสู่แผนปฏิบัติการของหน่วยงาน
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามของหน่วยงานในการทดลองแปลงยุทธศาสตร์ชาติและกรอบนโยบายของรัฐบาลต่างๆที่เกี่ยวข้องลงมาเป็นแผนงานของหน่วยงาน พบว่า การดำเนินการในครั้งนี้มีความแตกต่างจากการจัดทำแผนงานของหน่วยงานที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก
โดยผู้อำนวยการสำนักแผนงานและสารสนเทศ นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ยอมรับว่า ที่ผ่านมา การจัดทำแผนงานของหน่วยงานมักขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารที่เข้ามาตามวาระการเมือง และแผนงานที่นำไปสู่การปฏิบัติงานจริงคือแผนตามรอบปีงบประมาณ มากกว่าแผนปฏิบัติราชการระยะ 4 ปี
อีกทั้งในระหว่างการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของหน่วยงานในที่ประชุม พบว่า หน่วยงานขาดการวางแผนระยะยาว และแผนปฏิบัติราชการมักถูกถ่ายทอดลงไปยังระดับล่างไม่ครอบคลุมครบถ้วน การปฏิบัติงานจึงขึ้นอยู่กับผู้บริหารของหน่วยงานย่อยเป็นหลัก ทำให้ขาดเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
โดยในที่ประชุมได้ระบุถึงความท้าทายของการปฏิบัติงานในอนาคตของหน่วยงาน รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับป่า ที่ต้องการแผนงานและเป้าหมายที่ชัดเจนในการดำเนินงาน
การวางยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งนโยบายป่าไม้แห่งชาติจึงเป็นกรอบในการวางแผนงานของหน่วยงานด้านป่าไม้ใหม่ที่จะนำมาซึ่งเป้าหมายที่ชัดเจนมีทิศทางมากขึ้นและในระยะยาว และที่สำคัญ คือการทบทวนปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เป็นไปตามเป้าหมายในระหว่างการดำเนินงาน
“ความท้าทายคงอยู่ที่จะนำไปปฏิบัติอย่างไรให้สำเร็จ เช่น พื้นที่ที่ถูกบุกรุก จะทำยังไงให้กลับคืนมาเหมือนเดิม ก็เป็นโจทย์ให้หน่วยงานไปคิดหาวิธีต่อ”
“แล้วที่สุด มันก็เหมือนเราขับรถนะ เรามีเป้าว่าอีกกี่กิโลเมตรจะถึงที่หมาย แล้วถ้ามันไม่ถึง ก็จะได้มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้น” นายทรงเกียรติกล่าว
นายสมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กรมอุทยานฯ รับผิดชอบเรื่องการปฏิรูประบบและโครงสร้างขององค์กร กล่าวว่า การทำงานของหน่วยงานในวันนี้ จะเป็นการทำงานที่มีกระบวนการคิดอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรกๆ ซึ่งหมายถึงมีกระบวนการใช้การคิดวิเคราะห์เพื่อการวางแผนในระยะยาวเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว
นายสมโภชน์กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปต่างๆ ทำให้หน่วยงานมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้แล้ว จะนำไปสู่การ “ปฏิรูป” โครงสร้างและระบบขององค์กรเพื่อขับเคลื่อนงานไปสู่เป้าหมาย พร้อมทั้งยอมรับว่า ทางกลุ่มงานที่เขารับผิดชอบ ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและระบบและกลไกต่างๆขององค์กรเป็นอย่างมาก เพื่อรองรับงานในอนาคตที่ต้องปรับเปลี่ยนไป อาทิ การปรับเปลี่ยนสายบังคับบัญชาที่สั้นลง การวางโครงสร้างการทำงานแบบ area approach มากขึ้น การสร้างองค์กรมารองรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งคนกับป่าโดยเฉพาะ หรือการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานด้านต่างๆ
“ยุทธศาสตร์ชาติพูดถึงอนาคตไว้เยอะ ซึ่งหน่วยงานจำเป็นที่จะต้องปรับตัวตาม วันนี้ การทำงานจึงเป็นการทำงานแบบมีกระบวนการคิดจริงๆ มีการคิดวิเคราะห์ มีการวางแผน แบบ long term มีการตั้งเป้าอนาคต ทำให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ระยะยาว เกิดการ “ปฏิรูป” ตัวเองเพื่อรองรับเป้าหมาย” นายสมโภชน์กล่าว พร้อมทั้งแสดงความไม่หนักใจในโจทย์ที่ได้มา เนื่องจากในการวางยุทธศาสตร์ชาติและงานปฏิรูป ทางหน่วยงานได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน
ภาพ การตรวจยึดพื้นที่บุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนับร้อยไร่ ปี พ.ศ. 2561 โดยหน่วยเฉพาะกิจฯ พญาเสือ อส./ เครดิต: ทีมพญาเสือ