หากไม่ใช้พลาสติก?

หากไม่ใช้พลาสติก?

หากไม่ต้องการใช้พลาสติก เราจะมีทางเลือกใดบ้างหรือไม่? เป็นหนึ่งในคำถามใหญ่ที่นักวิจัยไทยนับร้อยคนกำลังช่วยกันหาคำตอบเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนแผนและนโยบายของประเทศด้านการจัดการขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังเหตุการณ์ที่ลูกพะยูนหลงฝูง “มาเรียม” ตายลง โดยสาเหตุหนึ่งมาจาก “ขยะพลาสติก” เมื่อดึกของคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา

โครงการวิจัย “ประเทศไทย ไร้ขยะ” กำลังถูกเร่งขับเคลื่อนจากนักวิจัยชั้นนำของประเทศภายใต้การนำของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อหาคำตอบในหลายๆด้านเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกโดยเฉพาะให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้กำกับนโยบายผ่านโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกที่มีระยะเวลา 12 ปี นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนถึงปี พ.ศ. 2573

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส. กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตขยะราว 28 ล้านตันต่อปี โดยปริมาณ 2 ล้านตันเป็นขยะพลาสติก โดยในจำนวน 2 ล้านตันดังกล่าว ประเทศไทยสามารถกำจัดได้ไม่ว่าจะเป็นการฝังกลบหรือรีไซเคิลอยู่ประมาณ 500,000 ตัน ทำให้ขยะพลาสติกอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 1.5 ล้านตัน ไม่ได้รับการจัดการ

ดร.วิจารย์ กล่าวว่า กว่า 80% ของปริมาณพลาสติกเหล่านี้ตกค้างก่อนไหลลงสู่ทะเลในที่สุด ซึ่งพลาสติกต้องใช้เวลาราว 450 ปี สำหรับการย่อยสลาย ในขณะที่อายุของพลาสติกนับตั้งแต่มีการผลิตและใช้ในโลกอยู่ที่ราว 70-80 ปี หมายความว่าขยะเหล่านี้มันจะยังอยู่ในสิ่งแวดล้อมและถูกเติมทุกวัน

“พอไม่ย่อยสลาย ก็กลายเป็นไมโครพลาสติกอีก อย่างที่เราได้ยินข่าวกันมากขึ้นว่าสัตว์ทะเลหลังๆ ตายเยอะ ซึ่งขยะเหล่านี้ทาง Asia Pacific ก็พบเยอะมาก” ดร.วิจารย์กล่าว

เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก ทางกระทรวงฯ ได้จัดทำโรดแมปขึ้นโดยโจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้ลดใช้ขยะพลาสติกที่ไม่จำเป็น ซึ่งก็คือพวกพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และทำอย่างไรให้มีการทิ้งให้ถูกที่ ดร.วิจารย์กล่าว

ในโรดแมปที่จะให้มีการเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิดภายในปีนี้ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารออกโซ และพลาสติกผสมสารไมโครบีท และในระยะที่สองที่จะเริ่มในปี พ.ศ. 25651 อีก 4 ชนิดคือ พลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอกพลาสติก และแก้วพลาสติกแบบบาง โดย ดร.วิจารย์กล่าวเพิ่มเติมว่าในโรดแมปยังได้พูดถึงการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุมเวียนของขยะพลาสติก และความพยายามแก้ปัญหาไปถึงต้นน้ำจนครบวงจร


อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งผู้ปฏิบัติคือองค์กรท้องถิ่น กระทรวงฯได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีงานวิจัยมาช่วยขับเคลื่อนในหลายๆประเด็นที่ยังไม่มีข้อมูลในบริบทของประเทศ เป็นที่มาของการพูดคุยปรึกษากับทางวช. ถึงงานวิจัยที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ดร.วิจารย์กล่าว


“เราเห็นปัญหาซ้ำๆซากๆ แล้วก็เคยเอางานของต่างประเทศมาปรับใช้แก้ปัญหา แต่เราพบว่ามันไม่เข้าบริบทและ “จริต” ของคนไทย เลยคิดว่าต้องมีงานวิจัยโดยเฉพาะที่เอามาใช้หนุนนโยบายเรื่องขยะพลาสติกนี้”

โครงการวิจัย “ประเทศไทย ไร้ขยะ” หรือที่ ศ.ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ วช. เรียกว่า โครงการท้าทายไทย จึงถูกริเริ่มขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการระดมนักวิจัยนับร้อยคนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำเข้ามาช่วยวิจัยโครงการในระยะ 3 ปี

“ที่ผ่านมางานวิจัยของเราจำนวนมากจะเป็นงานเล็กๆ แต่ขยะเป็นเรื่องที่สำคัญ เลยต้องการหลายภาคส่วนมาช่วยกัน” นพ.สิริฤกษ์กล่าว

ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นของทาง วช. เอง พบว่า ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย ประเทศไทยได้ทิ้งขยะลงทะเลราว 100 ตันแล้ว โดย 20-70% เป็นพลาสติก นั่นจึงหมายความว่า มีขยะพลาสติกอย่างน้อย 20-70 ล้านตันที่ประเทศไทยทิ้งสะสมอยู่ในทะเลในช่วงหลายปีติดต่อกันมานี้ นพ.สิริฤกษ์กล่าว

เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก ทาง วช. ได้ตั้งโจทย์งานวิจัยที่สำคัญที่ไม่ได้มองเพียงการจัดการกับขยะจากแผ่นดิน แต่ยังรวมถึงขยะที่อยู่ในทะเลด้วยแล้ว โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักคือ ทำอย่างไรไม่ให้ขยะลงไปเติมในทะเลมากขึ้น ถ้าเอาขึ้นมาได้ จะเอาไปกำจัดหรือใช้อย่างไรได้บ้าง และถ้าลงทะเลไปแล้ว จะมีวิธีกำจัดอย่างไร

จาก 3 โจทย์หลัก นักวิจัยได้รับกรอบงานวิจัยครอบคลุม 5 ประเด็น คือ วงจรผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการตรวจสอบเส้นทางการนำกลับมาใช้ใหม่ เทคโนโลยีกำจัดขยะที่เหมาะสมกับพื้นที่ การรีไซเคิลขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบ การลดขยะพลาสติกตกค้างในทะเล และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า งานวิจัยเริ่มขับเคลื่อนและเห็นผลบ้างแล้ว โดยในส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่ผลิตเม็ดพลาสติก ในปีนี้ มีการศึกษาผลิตภัณฑ์ไปแล้วมากกว่า 15 ผลิตภัณฑ์ รวมถึง บรรจุภัณฑ์ หลอด วัสดุก่อสร้าง วัสดุประกอบอาคาร และเครื่องนุ่งห่ม

ในส่วนของชุมชนในพื้นที่ทุกจังหวัดที่ติดทะเล 23 จังหวัดในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน อาทิ ชายหาดบางแสน แสมสาร เกาะหลีเป๊ะ และเกาะภูเก็ต ซึ่งต้องมีกระบวนการเก็บและจัดการขยะในทะเลอย่างเป็นระบบในทุกพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่และชุมชน ทางทีมวิจัยของโครงการกำลังดำเนินงานอยู่ใน 13 พื้นที่ที่จะเป็นพื้นที่นำร่องและคาดว่าจะได้เห็นผลในระยะหนึ่งปี

“เราต้องการคำตอบสามด้านคือ BCG, biochemical, green, แล้วก็ circular economy จากโครงการวิจัยนี้ ส่วนเรื่องกฎหมายก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องดำเนินการ” ดร.วิจารย์กล่าว

ศ.ดร. สนิท อักษรแก้ว ปะธารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าเรื่องขยะได้รับความสำคัญเป็นอันดับ 1 ในยุทธศาสตร์ชาติด้านการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านสิ่งแวดล้อม และภายใต้แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติก็ถูกระบุไว้ถึง 2-3 ประเด็น และมีแผนเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องถึง 15 แผน

“ก็คงต้องบูรณาการกันให้มากขึ้น” ดร.สนิทกล่าว