เตือนเสพติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า ทำลายสมอง ก่อมะเร็ง
กรมควบคุมโรค เตือนเสพติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า ทำลายสมอง ก่อมะเร็ง และทำให้ติดบุหรี่มากขึ้น
วันนี้ (19 สิงหาคม 2562) นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีพิษภัย ห้ามนำเข้า 100% เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน พร้อมมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ในฐานะรับผิดชอบงานควบคุมการบริโภคยาสูบ สื่อสารทำความเข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าให้ประชาชนรับทราบ เพื่อให้รู้เท่าทัน และไม่ผันตัวเข้าไปเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าที่นำออกขายหลายรูปแบบ ปรุงกลิ่นให้หอมชวนสูบ ซึ่งผลท้ายที่สุดคือนำไปสู่การเสพติดนิโคตินที่มากขึ้นกว่าเดิม
สำหรับสารนิโคตินที่มีอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าในปริมาณที่สูง หรือแม้แต่ในบุหรี่มวนทั่วไปนั้น ฝ่ายธุรกิจพยายามบิดเบือนว่าไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคจากการสูบบุหรี่ แต่ความเป็นจริงแล้วในทางการแพทย์ชี้ชัดว่า สารนิโคตินที่มีอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงนั้น ส่งผลเสียโดยตรงต่อสมองและระบบประสาท และเมื่อเกิดการเสพติดสารนิโคตินแล้ว ร่างกายจะต้องการสารนิโคตินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าต้องเพิ่มปริมาณหยดน้ำยานิโคตินเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่สมองสั่งการ จนเกิดผลเสียต่อระบบอวัยวะในร่างกายหลายระบบ เช่น ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น อัตราการเต้นหัวใจเพิ่มขึ้น หายใจถี่ขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลงเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญยังทำให้เซลล์ในร่างกายเจริญผิดปกติ จนกลายเป็นโรคมะเร็งในที่สุด
นอกจากอันตรายของสารนิโคตินที่มีอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงแล้ว กระบวนการทำงานของบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นระบบให้ความร้อนจากขดลวดไฟฟ้าและผู้สูบสามารถปรับระดับได้เอง จนทำให้เกิดไอละอองสีขาวของนิโคตินได้ละเอียด และมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้ผู้สูบได้รับนิโคตินเข้าสู่ร่างกายเพิ่มมากขึ้นไปด้วย และไอละอองสีขาวเหล่านี้แม้มีกลิ่นหอม แต่นั่นคือบุหรี่มือสอง และมือสามที่ทำลายสุขภาพผู้ที่ไม่สูบ และบุคคลรอบข้างได้เช่นกัน
กรมควบคุมโรค จึงขอแจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงอันตรายของการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า ไม่หลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อให้กับผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าเสพติดและทำลายสุขภาพผู้สูบและคนรอบข้าง และหากมีความประสงค์ในการขอคำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ โทรฟรี โทร.1600 หรือเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลใกล้บ้านท่านทั่วประเทศ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค 02-590-3850 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422