คณะฯ ทะเลแห่งชาติเตรียมผลักดัน “พะยูนโมเดล” ลดการตายของพะยูนให้เหลือ 20-45%
ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานสัตว์ทะเลหายากซึ่งตนเองเป็นประธาน ภายใต้คณะกรรมการทะเลแห่งชาติวันนี้ว่า ทางคณะทำงานได้มีการประชุมภายหลังที่ลูกพะยูนหลงฝูง “มาเรียม”ได้ตายลงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาเร่งแก้ปัญหาภัยคุกคามสัตว์ทะเลหายาก รวมทั้งพะยูน
โดยทางคณะทำงานจะได้ส่งข้อสรุปเข้าคณะกรรมการทะเลแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก่อนนำเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
คณะทำงานได้พิจารณาและเห็นชอบใน 3 ประเด็นหลักคือ พะยูนโมเดลเพื่อลดการตายของพะยูน เป้าหมายการอนุรักษ์ประชากรพะยูน และมาเรียมโปรเจค
โดยประเด็นเรื่องพะยูนโมเดล ที่ประชุมได้มีการพูดถึงการลดอัตราการตายของพะยูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเครื่องมือประมงซึ่งเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่ง กว่า 90% ของการตายของพะยูนที่ผ่านมาพบว่า มาจากเครื่องมือประมง หรือประมาณ 10-12 ตัวในจำนวนที่สำรวจได้ราว 250 ตัวในแต่ละปี ดร.ธรณ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรรมการปฏิรูปประเทศ ทส. ระบุ
วิธีการของพะยูนโมเดล คือการทำพื้นที่นำร่องอนุรักษ์พะยูนด้วยความร่วมมือของชุมชน ซึ่งในเวลานี้มีตัวอย่างที่เกาะลิบง จ.ตรัง ก่อนที่จะขยายผลไปยังอีก 11พื้นที่ที่มีพะยูน ไม่ว่าจะเป็น เช่น เกาะพระทอง อ่าวบ้านดอน ปากน้ำประแสร์ ฯลฯ
“หนนี้จึงไม่ใช่แค่พะยูน แต่เป็นการช่วยรักษาแหล่งหญ้าทะเล เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และช่วยด้านการดำรงชีวิตของพี่น้อง ต้องเป็นการทำไปพร้อมกัน หากเราห้ามบางเครื่องมือบางพื้นที่ เราก็ต้องสนับสนุนให้ชาวประมงอยู่ได้ ช่วยเรื่องเครื่องมือ สินค้า ผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
“ว่าง่ายๆ คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องในพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของพะยูนและช่วยกันรักษา ไม่ใช่เป็นการอนุรักษ์แต่สร้างความเดือดร้อน” ดร.ธรณ์กล่าว
ในส่วนของการอนุรักษ์พะยูน ทางที่ประชุมได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนประชากรพะยูนให้ได้ถึง 50% ภายในระยะเวลา 10 ปีซึ่งจะทำให้มีจำนวนพะยูนเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ประมาณ 250 ตัว เป็น 375 ตัว ซึ่ง ดร.ธรณ์กล่าวว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายเพราะประเทศไทยยังไม่เคยมีจำนวนประชากรพะยูนมากขนาดนั้น
อย่างไรก็ตาม ดร.ธรณ์เชื่อว่า เป็นสิ่งที่สามารถทำได้หากได้รับการสนับสนุนที่ดีพอ ทั้งเรื่องการวิจัยพะยูน การยกระดับการดูแลรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ สัตวแพทย์ สถานที่เครือข่ายฯลฯ
และในประเด็นสุดท้าย คือ มาเรียมโปรเจค ซึ่งเป็นการยกระดับแผนอนุรักษ์พะยูน ถอดบทเรียนการจัดการขยะทะเลร่วมกันในระดับชาติและนานาชาติ โดยมีการเสนอให้วันที่ 17 สิงหาคม เป็น “วันพะยูนแห่งชาติ” เพื่อระลึกถึงมาเรียมและรณรงค์เรื่องขยะทะเลและสัตว์หายาก
ที่ประชุมมีการเสนอให้มีการจัดตั้ง “กองทุนมาเรียม” เพื่อขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปในการเข้ามาร่วมปกป้องพะยูนและสัตว์หายาก ต่อต้านขยะทะเลร่วมกัน
นอกจากนี้ จะผลักดันให้เกิดการประชุมพะยูนโลก มีความร่วมมือกับนานาชาติ ทั้งในเรื่องสัตว์หายากและขยะทะเล ฯลฯ
สำหรับมาเรียม ซากของมาเรียมได้ถูกลำเลียงจากมทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรังโดยเครื่องบินของราชนาวี ไปยังพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อสต๊าฟตั้งแต่บ่ายวานนี้
หลังจากนี้ ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีแผนที่จะนำมาซากมาเรียมมาจัดแสดงไว้ที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาต่อไป
ภาพ ซากมาเรียมก่อนถูกส่งมาที่คพิพิธภุณฑ์วิทยาศาสตร์ คลองหลวง/ อส.