นายกฯ ตุ้ย โพสต์แจงทะเลบางแสนเปลี่ยนสี เหตุ 'แพลงก์ตอนบลูม'
"นายกฯ ตุ้ย" โพสต์แจงทะเลบางแสนเปลี่ยนสี เหตุเกิดจาก“แพลงก์ตอนบลูม” เริ่มลดลง คาดกลับมาเป็นปกติภายใน 1-2 วัน
เมื่อวันที่ 26 ส.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก "ณรงค์ชัย (ตุ้ย) คุณปลื้ม" ระบุว่า จากเหตุการณ์ที่พบน้ำทะเลบริเวณชายหาดบางแสนมีสีเขียวเข้ม และมีกลิ่นค่อนข้างแรง ในช่วงตั้งแต่วันจันทร์ที่ 19 ส.ค. 62 ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็น ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือ แพลงก์ตอนบลูม (red tide) เกิดจากสาหร่ายเซลล์เดียวหรือแพลงก์ตอนพืช เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนทำให้สีของน้ำทะเลเปลี่ยนไปจากสีปกติ ซึ่งในครั้งนี้เปลี่ยนไปเป็นสีเขียวเข้ม เนื่องจากสีของสารสี(คลอโรฟิลล์เหมือนในพืช)ที่อยู่ในเซลล์นั่นเอง และอาจพบสีอื่นๆ ได้ เช่น สีแดง สีน้ำตาล และสีเหลืองเป็นต้น ในอดีตชาวประมงที่พบเห็นจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ขี้ปลาวาฬ” ปรากฏการณ์ครั้งนี้เกิดจากแพลงก์ตอนพืช สกุล Noctiluca มีลักษณะทรงกลม ภายในเซลล์มีสีเขียว ขนาดประมาณ 0.5 - 0.7 มิลลิเมตร สามารถมองเห็นเป็นเม็ดกลมๆ สีเขียวด้วยตาเปล่า ในบริเวณผิวหน้าน้ำ
แพลงก์ตอนพืชสกุลนี้ไม่เป็นอันตรายเนื่องจากไม่สร้างสารพิษ แต่การที่น้ำทะเลมีกลิ่นค่อนข้างแรงเนื่องจากภายในเซลล์มีสารแอมโมเนียค่อนข้างมาก เมื่อเซลล์แตกจากคลื่นหรือเซลล์ตายลงจะมีการปลดปล่อยแอมโมเนียออกสู่บรรยากาศและส่งกลิ่นเหม็นนั่นเอง และการที่พบสัตว์น้ำขนาดเล็กตายและพบซากบริเวณชายหาดในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี เนื่องจากพอแพลงก์ตอนพืชตายลงซากจะถูกแบคทีเรียใช้ออกซิเจนในน้ำในการย่อยสลายซาก จึงทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงส่งผลให้สัตว์น้ำขนาดเล็กขาดออกซิเจนและตายลง ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีปกติจะเกิดขึ้นทุกปีในระยะ 3 - 5 ปี ที่ผ่านสามารถพบเห็นได้ประจำ ปีละประมาณ 2 - 3 ครั้ง ระยะเวลาในการเกิดจากพบเห็นต่อเนื่อง 3 - 5 วัน โดยมักพบในช่วงหลังฝนตก เนื่องจากมีการชะล้างสารอาหารลงสู่น้ำทะเลชายฝั่ง และมีอุณหภูมิ ความเค็ม และความเข้มแสงที่เหมาะสมจึงทำให้แพลงก์ตอนพืชเพิ่มจำนวน(เติบโตอย่างรวดเร็ว) และเมื่อสารอาหารลดลงก็จะพบเซลล์ลดลงและปรากฏการณ์นี้จะหายไป
นอกจากนี้การขึ้นลงของน้ำทะเลและกระแสลมในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงพัดลมทิศทางเข้าสู่ฝั่ง เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้มวลของแพลงก์ตอนพืชถูกพัดเข้าสู่ฝั่งในบริเวณชายฝั่งบางแสน ในปี 2562 ที่ผ่านมาบริเวณชายหาดบางแสน พบการเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีมาแล้วประมาณ 4 ครั้ง คือ เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม กรกฏาคม และสิงหาคม(ครั้งนี้) จากการติดตามและตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ สามารถคาดการณ์ได้ว่าปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีครั้งนี้ที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงปลายของการบลูมแล้ว จำนวนเซลล์เริ่มลดลง คาดว่าอีก 1 - 2 วัน สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เกิด'แพลงก์ตอนบลูม'ทำน้ำทะเลพัทยาเปลี่ยนสี
-หาดสมิหลากลับสู่ภาวะปกติ หลังเกิดแพลงก์ตอนบลูม