ไทยยันเดินหน้าควบคุมการค้างาช้างผิดกฏหมาย แม้จะหลุดจากแบล็คลิสต์องค์กรอนุรักษ์โลก CITES
CITES ปรับไทยออกจากบัญชีประเทศ “ที่ได้รับผลกระทบ” จากการค้างาช้าง พร้อมแสดงความชื่นชมไทย
นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กูล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา CITES (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่าประเทศไทยยังจะเดินหน้าควบคุมดูแลการค้างาช้างในประเทศต่อไป แม้ในการประชุมว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) Cop18 ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศไทยจะไม่อยู่ในบัญชี "ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฏหมาย”ใดๆแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาอาจเกิดขึ้นและกลับมารุนแรงได้อีก หากไม่มีการควบคุมดูแล โดยการทำงานจะทำตามแผนปฏิบัติการของกรมต่อไป นายสมเกียรติกล่าว
CITES เคยจัดระบบการดูแลการค้างาช้าง เนื่องจากเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ช้างป่าในแอฟริกาถูกคุกคามและฆ่าเพื่อเอางาเป็นจำนวนมาก โดย CITES ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์ระดับโลกที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการค้าพืชและสัตว์ป่าได้จัดทำบัญชีรายชื่อประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับการค้างาช้างผิดกฎหมาย โดยได้จัดกลุ่มเป็นกลุ่มประเทศที่มีความน่ากังวลอย่างยิ่ง (Primary Concern) และ กลุ่มประเทศที่มีความน่ากังวล ( Secondary Concern) ซึ่งการขึ้นบัญชีดังกล่าวมีผลผูกพันต่อประเทศที่มีรายชื่อต้องทำแผนปฎิบัติการงาช้างในประเทศ (National Elephant Ivory Action Plan) และรายงานผลให้ที่ประชุมรับทราบถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา
โดยประเทศไทยเคยติดอยู่ในบัญชี Primary Concern และต้องจัดทำแผนดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้บูรณาการหลายหน่วยงานเข้าดำเนินการในหลายๆเรื่อง อาทิ การขึ้นทะเบียนการครอบครองงาช้างและร้านค้างาช้าง การปราบปรามการลักลอบนำเข้างาช้างผิดกฏหมาย และการออกกฏหมายงาช้างเพื่อกำกับดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะในช่วง2-3ปีที่ผ่านมา
CITES เองได้ปรับปรุงบัญชีรายชื่อใหม่เพื่อลดทอนแรงเสียดทางทางการเมือง โดยเปลี่ยนบัญชีรายชื่อมาเป็น “ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายมากที่สุด”(A),“ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายชัดเจน”(B), และ “ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมาย”(C)
ซึ่งจากการพิจารณาในที่ประชุมครั้งล่าสุดนี้ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มใดๆ เท่ากับว่า ประเทศไทยไม่ต้อง “ถูกลงโทษ” โดยการทำแผนฯงาช้างอีก ผอ.สมเกียรติกล่าว
ซึ่งตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ดำเนินการในเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นและจริงจังทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีสถิติผลการจับกุม 44 คดี ปริมาณงาช้าง 4,492 ชิ้น รวมทั้งงาสมบูรณ์นับพันกิ่ง น้ำหนักรวม 9,901.82 กิโลกรัม มูลค่า 990,182,000 บาท
สำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันนี้ได้จัดแถลงข่าวความสำเร็จ พร้อมทั้งประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามการค้างาช้าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“จากสถานการณ์การลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมาย ประเทศไทยถูกใช้เป็นช่องทางในการขนส่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย โดยในอดีตประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับการค้างาช้างผิดกฎหมายในกลุ่มประเทศที่มีความน่ากังวลอย่างยิ่ง (Primary Concern) ถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่รุนแรง จนเกือบได้รับบทลงโทษระงับการค้าสินค้าที่เกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ” พลตำรวจเอกเฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าว
ทั้งนี้ เลขาธิการCITESได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามอนุสัญญาCITES และมีบทบาทอย่างชัดเจนในการเป็นผู้นำของภูมิภาค และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประเทศอื่น
นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวและได้ยืนยันว่ารัฐบาลไทยจะสนับสนุนการดำเนินงานของ CITES เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป