สธ. สั่งติดตามและเฝ้าระวัง ฝุ่น PM2.5 พื้นที่ภาคใต้
สธ. สั่งติดตามและเฝ้าระวัง ฝุ่น PM2.5 พื้นที่ภาคใต้ จากหมอกควันประเทศเพื่อนบ้าน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีมีรายงานข่าวในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยเริ่มมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ซึ่งเป็นผลกระทบจากหมอกควันที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้านนั้น จึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด พร้อมให้ความรู้ในการป้องกันตนเองกับประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังผู้ป่วยในพื้นที่ภาคใต้ที่อาจได้รับผลกระทบด้านสุขภาพนั้น พบว่าปัจจุบันยังไม่ได้รับรายงานการเจ็บป่วยของประชาชนที่เป็นผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญที่สัมพันธ์กับผลกระทบจาก PM 2.5
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลาง ได้แก่ กองระบาดวิทยา กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน ให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ของฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างทันท่วงที รวมถึงหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ในพื้นที่ภาคใต้ 2 แห่ง คือ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนและร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อดำเนินการให้ความรู้ สื่อสารความเสี่ยง และแนะนำวิธีป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กให้กับประชาชน ในกรณีมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่ติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง รวมถึงมีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะประชาชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการกำเริบได้ง่ายจากการสูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็ก จึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณที่สูงเกินค่ามาตรฐาน หรือเข้าไปทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายมากเป็นระยะเวลานาน แต่หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณที่สูง ควรป้องกันการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด โดยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นเวลานาน และตำรวจจราจรที่ทำงานกลางแจ้ง ควรสวมหน้ากาก สวมแว่นตา เสื้อแขนยาว เพื่อป้องกันฝุ่นด้วย และหากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว