แพทย์แนะพ่อแม่สังเกตอาการลูก รับมือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
เผยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นการอักเสบของเยื่อบุจมูกจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ หลังสัมผัสกับสารกระตุ้นภูมิแพ้ แนะพ่อแม่สังเกตอาการลูกเบื้องต้นก่อนพาพบแพทย์
นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศมีแนวโน้มมากขึ้น หากเด็กมีอาการเป็นหวัดบ่อยๆ เรื้อรังเป็นเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และมีอาการจามบ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเช้า หรือคันตาเป็นๆ หายๆ คัดจมูก หายใจไม่สะดวกร่วมกับมีน้ำมูกใสๆ ทุกวัน ให้สงสัยว่าน่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ของจมูก โดยเฉพาะหากมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว แต่อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์เพื่อแยกจากโรคไซนัสอักเสบ โรคติดเชื้ออื่นๆ ในโพรงจมูก หรือภาวะที่มีสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก ซึ่งอาจพบในเด็กได้บ่อย
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลเด็กที่มีภาวะโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และสิ่งที่กระตุ้นถือเป็นหลักสำคัญที่สุดในการรักษา ผู้ปกครองจึงต้องสังเกตสิ่งที่กระตุ้นให้เด็กเกิดอาการด้วย สิ่งที่พบว่าเด็กมักจะแพ้ คือ ตัวไรฝุ่นในบ้าน ในห้องนอน หรือตุ๊กตาที่ใช้นุ่นหรือสำลี ฝุ่นบ้าน ซากแมลง กลิ่นของสารเคมี น้ำหอม ควันบุหรี่ ดังนั้นจึงควรจัดห้องนอนหรือห้องนั่งเล่นของเด็กให้สะอาด ห้องนอนของเด็กไม่ควรใช้พรมปูพื้นหรือมีข้าวของรกรุงรังซึ่งอาจทำให้กักฝุ่นได้ ควรทำความสะอาดด้วยการถูน้ำทุกวัน การกำจัดตัวไรฝุ่นโดยการซักผ้าปูเตียง ปลอกหมอนด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 15 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ซึ่งสามารถช่วยลดการสัมผัสต่อสารก่อภูมิแพ้จากตัวไรฝุ่นได้ดี นอกจากนี้หลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่ เนื่องจากอาจทำให้มีอาการ น้ำมูกไหล จาม ตาแดง ไอ หรือหอบหืด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ระมัดระวังการติดเชื้อหวัดจากคนใกล้ชิดในบ้านหรือที่โรงเรียน ผู้ปกครองควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด ไม่ควรงดใช้ยาเอง เนื่องจากยาบางชนิดอาจต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะเห็นผลในการรักษา และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อการรักษาอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ช่วงนี้โรคไข้เลือดออกชะลอตัว เข้มกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
-'อนุทิน' รณรงค์ป้องกันโรคติดต่อในเรือนจำ
-แนะประชาชนยึดหลัก '3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค'
-เตือนปชช.ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ระวังป่วยโรคไข้ฉี่หนู