"วราวุธ" เผยดันป่าแก่งกระจาน ขึ้นมรดกโลกปีหน้า รอดีเอสไอชี้มูล "ชัยวัฒน์" พร้อมพวกเอี่ยวคดี "บิลลี่" หรือไม่ ก่อนดำเนินการ เร่งดูแลชีวิตกะเหรี่ยงบางกลอย
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงกรณี ย้ายเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 4 คน ที่ปฏิบัติงานในช่วงปี 2557 และเป็นชุดที่อยู่ในช่วงเวลาจับกุมคดีครอบครองน้ำผึ้ง ของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ว่า การย้ายเจ้าหน้าที่ 4 คนออกจากพื้นที่
ตนย้ำตลอดว่าไม่ใช่การเด้ง แต่เป็นการให้ย้ายไปประจำที่อื่นก่อนเพื่อความสะดวกและสบายใจของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และจะไม่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ในส่วนของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ปัจจุบัน เป็นผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี ซึ่งก็อยู่นอกพื้นที่อยู่แล้ว และถ้าหาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ส่ง ส่งเรื่องมาว่าอย่างไรก็จะเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยาน แห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่จะต้องไปดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายที่กำหนดกันไว้ซึ่งเราว่ากันตามเนื้อผ้าอยู่แล้วแต่ทางนี้ยังไม่ได้รับการประสานงานมาจาก ดีเอสไอ ซึ่งเรื่องยังไม่มาเราจะไปทำอะไรก่อนคงไม่ได้
เมื่อถามถึงกรณีการเผยแพร่หนังสือที่เตรียมฎีกาฉบับสุดท้าย ของบิลลี่ ก่อนเสียชีวิต โดยมีเนื้อหาระบุขอให้ชาวบ้านได้เข้าไปทำกินในพื้นที่ใจแผ่นดิน-บางกลอยบน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เตรียมจะประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลก นายวราวุธ กล่าวว่า คงต้องพิจารณาในองค์ประกอบหลายมิติบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็มีความจำเป็นเพราะคณะกรรมการมรดกโลกจะมีเงื่อนไขบางประการขอให้เราดำเนินการ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็เคารพในกติกาที่ได้พูดคุยกันแต่จะมีบางส่วนที่จะเอาอย่างที่เคยเป็นโดยธรรมเนียมของกลุ่มชาติติพันธ์ต่างๆก็จะมีการประพฤติปฏิบัติ เช่น การทำไร่หมุนเวียน ซึ่งทราบว่าที่ผ่านมาก็มีความเห็นที่ไม่ตรงกันกับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงขอให้ย้ายลงออกมาจากพื้นที่และเมื่อย้ายลงมาแล้ว เราต้องเข้าไปดูว่าพื้นที่ที่ชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆอาศัยอยู่สามารถทำมาหากินได้ตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ถ้าไม่ดีเราก็ต้องทำให้ดีและทำให้เขาอยู่ได้
"คณะกรรมการมรดกโลกให้คำแนะนำมาเราก็ต้องมาดูกันในหลายมิติจะทำให้ผลประโยชน์ทุกฝ่ายลงตัวได้อย่างไร ทำให้ชาวบ้านสมประโยชน์ในประเด็นที่สามารถอยู่และทำมาหากินได้ไม่ขัดกับ ระเบียบกับคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งตรงนี้ต้องใช้การพูดคุยซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนแต่ก็ต้องดำเนินการอย่างเร่งรีบ เนื่องจากภายใน เดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า คาดหวังว่า เราจะนำประเด็นเรื่องแก่งกระจาน เข้าที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกอีกครั้ง" นายวราวุธ กล่าว
เมื่อถามว่าหลังคดีของนายบิลลี่ได้รับความกระจ่างเชื่อว่าพื้นที่แก่งกระจานจะได้ขึ้นเป็นมรดกโลกหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า เป็นคนละส่วนกันเรื่องคดีก็ว่าไป ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ ที่กำลังดำเนินการสอบสวน หากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องเราก็จะดำเนินการตามที่ ดีเอสไอ ร้องขอมา แต่ในการทำงานกับประชาชนในพื้นที่ที่จะเป็นเงื่อนไขของคณะกรรมการมรดกโลกนั้นเราก็ต้องทำให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไข
ซึ่งนายวราวุธยอมรับว่า คดีของนายบิลลี่ก็ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งของคณะกรรมการมรดกโลกที่ต้องการให้ไทยดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้เกิดความกระจ่าง พร้อมทั้งจะเข้าไปดูแลชาวบ้านที่ถูกผลักดันจากพื้นที่เดิมให้ลงมาอยู่ข้างล่างทั้งในเรื่องความเป็นอยู่ การทำมาหากินให้เกิดความพอใจและนำพื้นที่แก่งกระจานขึ้นมรดกโลกต่อไป ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการมรดกโลกของมา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ใครฆ่าบิลลี่ ใกล้งวด จันทร์นี้ชุดสอบสวนนัดประชุม
-'ผอ.ชัยวัฒน์' ร้อนใจรีบแจงคดีบิลลี่ ย้ำศาลฎีกายกฟ้อง
-'บิลลี่' ที่ตามหา...ความยุติธรรมยังล่องลอย
-ดีเอสไอแถลงด่วน เปิดหลักฐานใหม่ฆาตกรรม 'บิลลี่'