'อนุทิน' ลั่นไทยต้องปลอด 'พาราควอต' ให้ได้ก่อนสิ้นปี 62
ย้ำพ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพฯบังคับใช้ 19 ก.ย.62 คุ้มครองแรงงานทั้งในและนอกระบบ ครอบคลุมคุมอันตรายจากสารพิษทางการเกษตรด้วย
วันนี้ (19 ก.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ว่า พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ก.ย.2562 เพื่อคุ้มครองแรงงานทั้งในและนอกระบบ
โดยนายจ้างต้องมีการจัดสถานประกอบการที่ปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น หากมีมลภาวะ มีสารพิษอันตรายใดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นายจ้างต้องรีบแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และนำลูกจ้างเข้ารับการตรวจรักษาโดยเร็ว
ทั้งนี้กฎหมายยังครอบคลุมถึงประชาชนที่อยู่โดยรอบสถานที่ปฏิบัติงานนั้นๆ ด้วย โดยให้อำนาจอธิบดีกรมควบคุมโรคในการประกาศเขตอันตรายและนำผู้ได้รับผลกระทบเข้ารับการบำบัดรักษาโดยเร็ว
“พ.ร.บ.นี้จะมีประโยชน์กับลูกจ้างเนื่องจากมีกลไกการเฝ้าระวัง การป้องกันและการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ตรวจจับ ฉับไว เตือนภัยเมื่อผิดปกติ ช่วยให้ลูกจ้างหรือผู้ได้รับผลกระทบได้รับการดูแลและการตรวจสุขภาพได้รับการบริการบนมาตรฐานเดียวกัน กรณีมีเหตุสงสัย ผิดปกติ บุคลกรสาธารณสุขสามารถเข้าทำการตรวจสอบ สอบสวนโรคหาสาเหตุได้ทันที เมื่อพบความเสี่ยงหรือพบผู้ป่วย สามารถส่งต่อวินิจฉัย รักษา อย่างทันท่วงที เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มและความรุนแรงของความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากการทำงานและโรคจากสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น ทั้งโรคจากการทำงานที่เกิดขึ้นทันทีหรือเกิดภายหลังจากการทำงานเป็นระยะเวลานาน และโรคที่เกิดแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังจากมลพิษหรือสิ่งปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์”นายอนุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎหมายนี้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการใช้สารเคมีในภาคเกษตรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ครอบคลุมอันตรายจากสารเคมีในภาคเกษตรทุกชนิด รวมถึงสารเคมีอันตราย 3 ตัว คือพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสในภาคเกษตร ซึ่งมีการผลักดันให้ยกเลิกการใช้อยู่ในขณะนี้ด้วย ขอยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่เอา ทางรมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็ไม่เอา และจากการสอบถามไปยังรมว.อุตสาหกรรมก็ยืนยันไม่เอา 3 สารพิษนี้ 3 กระทรวงเห็นพ้องต้องกันในการต่อสู้เรื่องนี้
ต่อข้อถามว่า การดำเนินการที่จะไม่เอา 3 สารพิษนั้น จะทันก่อนวันที่ 1ม.ค.2563 ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดให้ไทยต้องปลอดพาราควอตหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องทำให้ได้ตามนั้น เพราะกระทรวงสาธารณสุขเซย์โนมาตลอด สังคมเขาไม่เอา แต่คนเห็นแก่ตัวจะเอา รมช.เกษตรฯ ก็ขับเคลื่อนไปในแนวทางเดียวกันคือไม่เอา เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2562เรียน ถามรมว.อุตสาหกรรมก็เซย์โน มีคนไม่เห็นด้วยตั้ง3 ฝ่าย แล้วจะไปเซย์เยสได้อย่างไร คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เห็นด้วยต้องดูว่ามาจากกระทรวงสาธารณสุขหรือเปล่า หากมาจากกระทรวงสาธารณสุข แล้วไม่ทำตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขก็จะเจอกัน
ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบต่อร่างอนุบัญญัติจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ...
(ร่าง) ประกาศคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการในคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัดและคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร พ.ศ..
และ (ร่าง) ประกาศโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 รวมถึง จะดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติในการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะเร่งดำเนินการภายใน 3 เดือน หรือประมาณเดือน ธ.ค.2562 เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องมีและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับเกษตรกรถือเป็นแรงงานนอกระบบ กฎหมายนี้ก็จะไปประกอบกับกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายจากการประกอบการโรงงาน พ.ร.บ.ความปลอดภัยและชีวอนามัย เป็นต้น
ทั้งนี้ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าไม่เคยวินิจฉัยโรคได้ เราวินิจฉัยได้แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่ามาจากการทำงาน เช่น พบโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด จากแร่ใยหิน แต่แพทย์ก็บอกไม่ได้ว่ามาจากการทำงาน เพราะไม่เคยเก็บข้อมูลการสัมผัสหรือความเสี่ยง ให้เป็นระบบหรือการตรวจสุขภาพก่อนหรือหลัง ทั้งนี้ ไม่ได้ต้องการเอาผิดแต่ต้องการให้จัดการเรื่องความปลอดภัย โดยเมื่อพบผู้ป่วย 1 ราย ก็ต้องสืบสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง ซึ่งเดิมไม่ยอมให้มีการสืบสวนโรค
“อย่างกรณีสารพาราควอต ที่ผ่านมาแพทย์ก็วินิจฉัยว่าปอดเป็นผังผืด แต่ไม่ได้บอกว่าเหตุมาจากอะไร แต่จากนี้ก็จะต้องมีการสืบสวนโรคว่าเกิดจากอะไร ก็จะทำให้เมีระบบเฝ้าระวัง และเริ่มเจอไปเรื่อยๆว่า คนป่วยอาการนี้ทุกคนมีประวัติสัมผัสพาราควอตทุกคน ก็จะเป็นข้อมูลในการประกาศชื่อหรืออาการจากโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม กฎหมายก็จะมีปิดช่องว่างเหล่านี้”นพ.สุวรรณชัยกล่าว