จับตา'น่านแซนด์บ๊อกซ์' เจ้าสัว“บัณฑูร”
สำหรับสูตรฟื้นผืนป่าจ.น่าน มีความหมายคือ 72% เท่ากับพื้นที่ป่าสงวนในปัจจุบัน ที่ต้องคงอนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้คงอยู่ตลอดไป ส่วน 18% คือพื้นที่ทำกินในเขตป่าที่เกษตรกรฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่
ในงานเอ็มเอฟเอซีอีโอฟอรัม ครั้งที่ 19 จัดโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญ “บัณฑูร ล่ำซำ”ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มาเล่าถึงทิศทางการดำเนินงานของธนาคารกสิกรในยุคปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งที่4 ที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชื่อมโยงโลกทางการเงิน และประสานรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มุ่งสู่การพัฒนาที่เป็นเลิศทางการเงินการธนาคารอย่างยั่งยืนว่า "เชื่อว่าตอนนี้ทูตต่างชาติน่าจะได้รับภูมิหลังและการดำเนินงานก้าวต่อไปของธนาคารกสิกรไทยอย่างเพียงพอแล้ว จึงอยากชวนคุยโครงการน่าน แซนด์บ๊อกซ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปวิธีการแก้ไขปัญหาประเทศให้แก่ประชาชน ตามครรลองประชารัฐ เพราะไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่เป็นปัญหาของชาติ ถ้าไม่มีต้นน้ำ ชาติก็ไม่มีความอุดมสมบูรณ์"
บัณฑูร ในฐานะที่ยังสวมหมวกประธานกรรมการภาคเอกชนโครงการน่าน แซนด์บ๊อกซ์ ได้เล่าถึงภารกิจการทวงคืนผืนป่า จ.น่านให้กับคณะทูตานุทูตต่างชาติ โดยบอกว่า เศรษฐกิจประเทศจะเติบโตแข็งแกร่งขึ้นได้ต้องดูแลตั้งแต่ระดับประชาชน ชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่แท้จริง ซึ่งจ.น่าน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือฝั่งตะวันออกมีป่าต้นน้ำอุดมไปด้วยธรรมชาติและเป็นจุดก่อกำเนิดต้นน้ำลำธารมากมายอยู่ในความสูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไปป่าต้นน้ำน่านเป็นแหล่งกำเนิดลำน้ำประมาณ 40% ไหลรวมกับปิง วัง ยม เป็นเจ้าพระยา แม่น้ำสายใหญ่ที่สุดของประเทศที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยทั้งประเทศ
ในบันทึกพื้นที่ป่าสงวนตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 พบว่า จ.น่าน มีป่าสงวน 85% ของพื้นที่ทั้งจังหวัดที่มีอยู่ทั้งหมด 7,601,930 ไร่ แต่หลังจากสำรวจปี 2559 พบว่า พื้นที่ป่าสงวนหายไป 28% ของพื้นที่เดิม ซึ่งบัณฑูร มองว่า ด้านหน้าฉากแนวป่าต้นน้ำที่อุดมไปด้วยแมกไม้ของป่าดิบเขาและป่าเบญพรรณในจังหวัดน่าน แต่หากเดินลึกเข้าไปกลับพบกับการรุกล้ำพื้นที่ป่าเป็นภูเขาหัวโล้นขนาดใหญ่เห็นได้อย่างเด่นชัด
"นี่เป็นที่มาของโมเดลน่าน แซนด์บ๊อกซ์ ซึ่งมีสูตร “72-18-10” เพื่อจัดสรรพื้นป่าสงวนให้ยั่งยืน มุ่งแก้ปัญหาหลักเรื่องสิทธิที่ทำกินของเกษตรกรให้มีชอบตามกฎหมาย โดยมีการบริหารจัดการพื้นที่เขตป่าสงวนตามสัดส่วนที่มีการตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน"บัณฑูร ระบุ
สำหรับสูตรฟื้นผืนป่าจ.น่าน มีความหมายคือ 72% เท่ากับพื้นที่ป่าสงวนในปัจจุบัน ที่ต้องคงอนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้คงอยู่ตลอดไป ส่วน 18% คือพื้นที่ทำกินในเขตป่าที่เกษตรกรฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ ขณะที่10% เป็นพื้นที่ที่จัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้เต็มที่ แต่ยังคงเป็นป่าสงวนโดยกฎหมาย
"ผมเป็นแค่คนๆหนึ่งที่ร่วมช่วยผลักดันโครงการน่าน แซนด์บ็อกซ์ให้มีความก้าวหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งแนวทางส่งเสริมเพิ่มจำนวนพื้นที่ป่า โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับภาครัฐ และหน่วยงานท้องถิ่นเจรจากับชาวบ้าน 99 ตำบลในจังหวัดน่าน พร้อมชี้ชวนให้เห็นว่า ปัญหานี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง" บัณฑูร กล่าว
เจ้าสัวบัณฑูรบอกว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจภายในพื้นที่” เป็นสิ่งสำคัญในอันดับต้นๆที่จะช่วยให้ชาวบ้านมีที่ดินทำกิน และมีทักษะความสามารถทำกินในพื้นที่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ และถือเป็นการช่วยแก้ไขปัญหารุกล้ำผืนป่าและจูงใจให้ทุกฝ่ายได้เห็นประโยชน์ร่วมกันเพื่อการอนุรักษ์ป่าสงวนต้นน้ำให้คงอยู่
ทั้งนี้ แผนดำเนินงานของโครงการน่าน แซนบ๊อกซ์ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะที่สอง จากเดิมเริ่มในปี2561 เป็นการสื่อสารแนวทางแก้ปัญหาป่าน่านกับผู้นำชุมชน เพื่อจัดทำตัวเลขที่ทำกินในเขตป่าจังหวัดน่าน ตัวเลขคืนป่าบางส่วนเพื่อปลูกต้นไม้ใหญ่ และเจรจากับคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลประเด็นสิทธิทำกิน
ปี 2562 ดำเนินการหาเงินทุนสนับสนุน เตรียมพืชทางเลือก ฟื้นฟูสภาพดิน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม และชดเชยรายได้เกษตรกร ส่วนปี 2563 นำองค์ความรู้ทุกศาสตร์ ปรับเปลี่ยนวิถีทำกินให้เกษตรกร มุ่งแปรรูปสินค้าเกษตรให้มูลค่าสูง สร้างยี่ห้อสินค้าน่าน พัฒนาช่องทางตลาด และสร้างความเข้มแข็งชุมชน
ขณะที่ตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ ประจำประเทศไทยมีข้อซักถามกรณีที่ธนาคารกสิกรไทยออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน สำหรับโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือกรีนบอนด์ ดูเหมือนเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์งานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติให้ยั่งยืนหรือไม่
บัณฑูร อธิบายว่า กรีนบอนด์เป็นการให้เงินสนับสนุนกับกิจกรรมที่ดีกับสิ่งแวดล้อม และมีให้เฉพาะโครงการสีเขียวจริง ซึ่งธนาคารกสิกรไทยออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน มูลค่ารวม 100 ล้านดอลลาร์ ธนาคารแรกของไทยและภูมิภาคอาเซียน เน้นปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการที่เป็นประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อมและ สังคม หวังยกระดับตลาดทุนไทยและภูมิภาค ส่งเสริมการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการเติบโต อย่างยั่งยืนของประเทศชาติและโลกไปด้วยกัน