'ปลาทะเล'โดนด้วย ผลค้าเสรีทำราคาในประเทศร่วงหนัก
“เกษตรกร”ทนไม่ไหวร้องรมต.เกษตรฯหลังราคาปลากะพงตกต่ำอย่างหนัก เหตุการณ์นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านภาคใต้เงื่อนไขการค้าเสรี ทำผู้เลี้ยงขาดทุนหนัก
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าได้รับหนังสือร้องเรียนจากสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย เพื่อให้แก้ปัญหาราคาปลากะพงตกต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะไทยได้นำเข้าปลาจากมาเลเซีย ซึ่งเรื่องนี้ได้ให้กรมประมงเข้าไปตรวจสอบ อย่างไรก็ตามหากการนำเข้าดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายผู้เลี้ยงก็ต้องยอมรับ แต่กระทรวงเกษตรฯยินดีจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การนำเข้าปลาจากเพื่อนบ้านเป็นไปตามเงื่อนไขการค้าเสรี แต่จากเงินบาทแข็งค่า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าลดลงและขายได้ในราคาต่ำ ซึ่งการห้ามนำเข้านั้นไม่สามารถทำได้ แต่เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงต้องปรับตัวสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ได้ โดยการทำแปลงใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนลดลง
นายสุทธิ มะหะเลา นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย กล่าวว่า ในปี 2561ไทยผลิตปลากะพงได้70,000 ตัน ปี2562คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ตัน ซึ่งตั้งแต่ปีช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน ปลากะพงขาว ไซส์เล็ก เดิม ราคาอยู่ที่กก.ละ 90-100 บาทในขณะนี้ กกละ. 55-75 บาทต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่กก.ละ 90 บาท
สาเหตุมาจากการนำเข้า ปลากะพงขาว ปลาช่อน ปลากดคัง ปลากราย ปลาดุก ผ่านด่านนอก ด่านจังโหลน ทั้งจากมาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชาเพิ่มมากขึ้นกว่า 100-200 ตันต่อวัน ต่อเนื่องสัปดาห์ละ 4-5 วัน สมาคมฯจึงอยากให้รัฐบาล แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยควบคุมและตรวจสอบปริมาณสารตกค้างปลาที่นำเข้ามากขึ้น เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกรไทยไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน ภายใต้กฎระเบียบการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ปลอดภัย ของกรมประมง
ทั้งนี้เพราะราคาที่ลดลง ทำให้เกษตรกร ทยอยเลิกเลี้ยงไปกว่า 80 %แล้ว ในขณะที่ผู้เลี้ยงแถบ จ.สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 20 % เท่านั้น