“บุหรี่ไฟฟ้า”ภัยใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม
องค์การอนามัยโลก ยังยอมรับเมื่อปี 2559 ว่ายังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะสรุปได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้ผู้ใช้เลิกบุหรี่มวน
ทุกวันนี้ ผู้คนทั่วโลกนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือนิโคตินเหลวกันมาก คาดว่าผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 55 ล้านคนภายในปี 2564 ซึ่งองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูอชโอ)ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผลร้ายในระยะยาวของการการสูบบุหรี่ประเภทนี้คืออะไร
ล่าสุด วอลมาร์ท บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ ออกแถลงการณ์ว่า จะยุติการขายบุหรี่ไฟฟ้าตามร้านสาขาทั่วประเทศ หลังจากที่มีประชาชนกว่า 500 คนล้มป่วยด้วยอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทั้งยังพบผู้เสียชีวิตอีก 8 ราย ซึ่งต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าด้วย
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ เสนอร่างกฏหมายห้ามซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าทั่วประเทศ ขณะที่รัฐมิชิแกน และรัฐนิวยอร์ก ได้ผ่านร่างกฏหมายห้ามซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว แต่การตัดสินใจของวอลมาร์ทครั้งนี้ สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับอุตสาหกรรมบุหรี่โดยตรง
แต่ยังมีข้อถกเถียงกันอย่างมากในประเด็นผลเสียต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวน แม้แต่องค์การอนามัยโลก ยังยอมรับเมื่อปี 2559 ว่ายังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะสรุปได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้ผู้ใช้เลิกบุหรี่มวน ขณะที่องค์กรด้านสุขภาพและรัฐบาลหลายประเทศออกคำเตือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนส่งผลเสียต่อสุขภาพไม่ต่างกัน
ในประเทศต่างๆมีมาตรการรับมือกับบุหรี่ไฟฟ้าแตกต่างกันไป เริ่มจากอินเดีย ที่ห้ามจำหน่าย ห้ามผลิต นำเข้า จัดเก็บ และโฆษณาบุหหรี่ไฟฟ้า หากพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนต้องถูกจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับเป็นเงิน 100,000 รูปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเงิน 500,000 รูปี
โกลบอล สเตท ออฟ โทแบคโค ฮาร์ม รีดัคชัน ระบุว่ามี 39 ประเทศที่มีคำสั่งห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่บางประเทศมีการควบคุม หรือให้ใช้อย่างถูกกฎหมาย เช่น สิงคโปร์ ห้ามนำเข้า จัดจำหน่าย แจกจ่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ กาตาร์ สั่งห้ามบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2557 เหมือนกับประเทศไทย ที่ห้ามบุหรี่ชนิดนี้ ตั้งแต่ปี 2557
ส่วนออสเตรีย กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ การจำหน่ายต้องได้รับใบอนุญาต และเบลเยียม อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ที่บรรจุสารนิโคตินเหลวนอกร้านขายยาได้ หากบรรจุนิโคตินไม่เกิน 2 มล. แต่ห้ามจำหน่ายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี
ขณะที่สาธารณรัฐเช็ก ห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และอนุญาตให้จำหน่ายเฉพาะร้านที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่มวน ส่วนเดนมาร์ก ควบคุมการโฆษณา และกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนจึงจะทำการตลาดและจำหน่ายได้
ฟินแลนด์ กำหนดให้การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินเหลวเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่วนฝรั่งเศส ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เนเธอร์แลนด์ ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สหรัฐ ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละรัฐ และออสเตรเลีย ยังไม่มีกฎหมายที่แน่ชัด
แคนาดา ส่วนใหญ่ยังไม่มีกฎหมายควบคุม แต่ในทางเทคนิคการจำหน่ายน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินยังผิดกฎหมาย เนื่องจากทางการแคนาดายังไม่อนุมัติ ส่วนในเมืองแวนคูเวอร์ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะ และเมืองโตรอนโตห้ามสูบบรี่หรี่ไฟฟ้าในสถานที่ทำงาน
ฮ่องกง ห้ามจำหน่ายและครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคติน หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับ 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือจำคุก 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ห้ามจำหน่ายหรือใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินตั้งแต่ปี 2553
มาเลเซีย ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในรัฐปีนัง เกดะห์ ยะโฮร์ และกลันตันเมื่อปี 2558 ต่อมาในปี 2561 รัฐบาลมาเลเซียออกกฎห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้เยาวชน ส่วนเกาหลีใต้ ไม่มีกฏหมายห้าม โดยอนุญาตให้จำหน่ายและใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้เพียงแต่กำหนดอัตราภาษีไว้สูงมาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'วอลมาร์ท' เลิกขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกสาขา
-นิวยอร์กแบนบุหรี่ไฟฟ้ารสพิเศษ
-สหรัฐเล็งแบน 'บุหรี่ไฟฟ้าแต่งกลิ่น' ทั่วประเทศ
-รบ.ลั่น 'บุหรี่ไฟฟ้า' มีพิษภัยห้ามนำเข้า 100%