ปตท.จ่อผุดโรงงานผลิตยามะเร็ง

ปตท.จ่อผุดโรงงานผลิตยามะเร็ง

ปตท.ยันไม่ล้มแผนก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งให้องค์การเภสัชฯเช่า เผยยังรอสรุปตัวเงินวงเงินลงทุนที่ชัดเจน ชี้ในอนาคตหวังต่อยอดสู่ธุรกิจไบโอฟาร์มา เป็นตัวแทนจำหน่ายยาเจาะตลาดยาต่างประเทศ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยถึง ความร่วมมือระหว่างปตท.กับองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ใน “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา (Active Pharmaceutical Ingredient, API)” ว่าขณะนี้ ยังอยู่ในกระบวนการศึกษาของทั้ง 2 ฝ่าย และมีความคืบหน้าไปมากแล้ว แต่ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจนเนื่องจากผลการศึกษาของทั้ง 2 ฝ่าย ยังต้องใช้เวลาในกระบวนการพิจารณาด้วย

สำหรับขั้นตอนต่อไปจะต้องนำผลการศึกษาของแต่ละฝ่ายมาพิจารณาร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องของวงเงินลงทุนในการก่อสร้างโรงงานผลิตยาฯ แม้ว่าตามหลักการแล้วทาง ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยาฯให้ทางองค์การเภสัชฯเช่า แต่ก็ต้องดูปัจจัยหลายๆด้านประกอบกันด้วย เช่น อัตราดอกเบี้ย ผลตอบแทน ความคุ้มค่าด้านต้นทุนการผลิต

ทั้งนี้ โครงการฯดังกล่าว ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจผลิตยาของ ปตท. และไม่ได้ต้องการแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นๆ แต่เป็นการเข้าไปช่วยเสริมขีดความสามารถแข่งขันขององค์การเภสัชฯ และทดแทนการนำเข้ายารักษาโรงมะเร็งจากต่างประเทศมีมูลค่าสูง

โดยมองว่าในเรื่องนี้ ปตท.มีส่วนที่จะช่วยประเทศได้ด้วย การก่อสร้างโรงงานผลิตยาฯ และเมื่อโรงงานฯเกิดขึ้นได้แล้ว ก็ต้องไปดูเรื่องความคุ้มค่าในการผลิต ซึ่งก็มีช่องที่ ปตท.น่าจะเข้าไปช่วยได้ในเรื่องทำการตลาด(มาร์เก็ตติ้ง)ที่จะเน้นตลาดในต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อสร้างดีมานด์ให้กับโรงงานฯ เกิดความคุ้มค่าในต้นทุนการผลิต ซึ่งปตท.ก็จะมีบทบาทในการเป็นตัวแทนจำหน่ายยา แต่คงไม่ใช่แค่ยารักษาโรคมะเร็วเท่านั้น เพราะการเป็นตัวแทนจำหน่ายฯจะต้องมีความหลากหลาย

“ก็ยกตัวอย่างเช่น องค์การเภสัชฯ อาจจะมีตลาดในประเทศราว 30% ถ้า ปตท.หาดีมานด์ต่างประเทศได้สัก 10% ก็มาสั่งโรงงานที่นี่ผลิตได้ ก็จะคุ้มค่าการผลิตขึ้น และก็จะเป็นธุรกิจไบโอเบส หรือ ต่อยอดสู่ธุรกิจไบโอฟาร์มา ในอนาคต โดยเบื้องต้น ปตท.จะเป็นผู้ดำเนินการก่อน แต่อนาคตจะต้องตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดูหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม ซึ่งต้องพิจารณากันอีกครั้ง”

ส่วนในอนาคตจะมีการผลิตยาประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากยารักษามะเร็งหรือไม่นั้น นายอรรถพล กล่าวว่า การดำเนินการในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งปตท.จะประสานงานอย่างใกล้ชิด และให้ทางองค์การเภสัชฯเป็นผู้นำ อยากได้อะไร หรือ ขาดอะไร ทางปตท.ก็จะเข้าไปช่วงเสริมให้ ไม่ได้ไปแข่งขันแน่นอน ฉะนั้น การเข้าสู่ธุรกิจยาของปตท. จะเป็นลักษณะตัวเสริมให้ธุรกิจยาเพื่อทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงยารักษาโรงมะเร็งมากขึ้น

สำหรับโครงการดังกล่าวฯ ทางองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ลงนามบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 23 ม.ค 2561 โดยองค์การเภสัชฯ มีเป้าหมายมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งในทุกกลุ่มการผลิต 3 ชนิด คือ 1.ยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีด(Chemotherapy) ที่เป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่สามารถออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย

2.ยาเคมีชนิดเม็ดและยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) เพื่อให้มียาครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็งในปัจจุบัน และ3. ยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง(Targeted Therapy)เบื้องต้น คาดว่า โรงงานผลิตรักษาโรคมะเร็ง จะมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายจะเริ่มผลิตยาได้เองในประเทศประมาณปี 2568 จากช่วงแรกที่ยังเป็นการนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งจากต่างประเทศ

ทั้งนี้  องค์การเภสัชฯ ประเมินว่า ตลาดยาในประเทศมีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่ง 70% เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นยอดขายขององค์การเภสัชฯราว 1.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 10% ซึ่งหากสามารถสร้างโรงงานยารักษาโรคมะเร็งได้ ก็คาดหวังว่าจะช่วยลดราคายาลงได้มากกว่า 50 % จากที่องค์การเภสัชฯนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ถูกกว่าราคาในตลาดอยู่ที่ราว 5,000 ล้านบาท