'ลัลลาเบล’กรณีศึกษาถึงเวลาปรับ'มายาคติการดื่ม'และโครงสร้างสังคมไทย

'ลัลลาเบล’กรณีศึกษาถึงเวลาปรับ'มายาคติการดื่ม'และโครงสร้างสังคมไทย

ได้เวลาปรับ‘มายาคติการดื่ม’?หลังเกิดเหตุการณ์ ‘ลัลลาเบล’ พร้อมปรับโครงสร้างสังคมไทยที่มอง‘เด็กเชียร์เบียร์’- ‘เด็กเอ็นเตอร์เทน’ เสมือนเป็นใบอนุญาตให้คุกคามละเมิดทางเพศได้ แนะคุ้มครองพื้นที่ทำงานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

    กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ 'ลัลลาเบล'-ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ อายุ 25 ปี พริตตี้สาวที่เสียชีวิตขณะรับงานเอ็นเตอร์เทน ทำหน้าที่บริการให้ความบันเทิงสนุกสนาน ถือเป็นสปอตไลท์ที่ฉายออกมาให้คนในสังคมได้เห็นอีกด้านของอาชีพ ที่สะท้อนถึงการคุกคามทางเพศ และโทษของการดื่มแอลกอฮอล์ดื่มหนัก ดื่มเร็วส่งผลต่อการเสียชีวิต

      วานนี้ (25 ก.ย.) สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิธีรนารถ กาญจนอักษร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม จัดเสวนา 'เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับพฤติกรรมดื่มหนักดื่มเร็วและการคุกคามทางเพศ' โดยมีน.ส.เอ (นามสมมติ) อดีตสาวเชียร์เบียร์ และพริตตี้สินค้า ได้มาเล่าประสบการณ์ เข้ามาสู่วงการสาวเชียร์เบียร์ และพริตตี้สินค้า ว่าเริ่มตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 1 และทำมาจนถึงปีที่ 4 โดยสาเหตุที่เข้าสู่วงการนี้ เพราะต้องหาเงินส่งเสียตัวเองเรียนปริญญาตรี และอาชีพนี้เป็นช่องทางหาเงินได้ง่าย ไม่เหนื่อย และมีเวลาไปเรียนหนังสือ

      สาวเชียร์เบียร์ จะเริ่มทำงานตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 5 ทุ่มหรือดึกกว่านั้น และเด็กส่วนใหญ่ที่เข้าสู่วงการนี้ เกิดจากต้องส่งตัวเองเรียน หรือต้องทำงานช่วยเหลือครอบครัว ดังนั้นแม้ว่าหลายคนรู้ว่าเข้าสู่วงการนี้มีความเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ อย่าง การถูกลวนลาม ถูกเนื้อต้องตัว ถูกลวง ถูกแต๊ะอั๋ง แต่หลายคนก็ต้องพร้อมเสี่ยงเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว

       'ค่าจ้างต่อวันจะประมาณ 350 บาท และค่าฝาเบียร์ 10 บาท ซึ่งวันหนึ่งจะได้ประมาณ 500 บาท ทำให้มีรายได้ 15 วัน ประมาณ 7,000-8,000 บาท ซึ่งเมื่อทำงานอื่นจะไม่ได้เงินเท่านี้ อีกทั้งงานก็ไม่ได้หาง่าย จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้สาวๆ มาสู่เส้นทางเด็กเชียร์เบียร์ พริตตี้ และเด็กเอ็นเตอร์เทนทั้งที่รู้ว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะถูกลวนลาม และบางคนอาจจะยินยอมพร้อมใจไปมากกว่านั้น แต่ใช่ว่าทั้งหมดจะเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้สังคมมองอาชีพนี้แบบเหมารวม เพราะเด็กเชียร์เบียร์หลายคนก็ดูแลตัวเอง ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นอาชีพหนึ่งที่พวกเขาเลือกเพื่อทำงานตรงนี้'นางสาวเอ (นามสมมติ) กล่าว

      นางสาวเอ (นามสมมติ) กล่าวต่อว่าหลายคนที่เข้าสู่วงการนี้ มีวิธีการเอาตัวรอดในการรับงาน เช่น ไม่ดื่มเหล้าแก้วคนอื่น มือไม่ห่างแก้วเหล้าตัวเอง มีการประมาณตัวเองว่าดื่มได้แค่ไหน ซึ่งแต่ละคนจะมีเทคนิคการดื่มที่ไม่เหมือนกัน เพราะพริตตี้สายเอ็น และเด็กเชียร์เบียร์ต้องดื่มเป็นประจำอยู่แล้ว แต่แม้จะมีการดื่มหนักทุกวันพวกเขาจะมีการออกกำลังกาย ดูแลตัวเอง กินอาหารเสริม ดีท็อกตับ และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ในวงการนี้กันนานๆ ซึ่งที่พูดไม่ได้สนับสนุนให้ใครเข้ามาเดินทางสายนี้ เพราะถึงที่สุดแล้วแม้ว่าเอาตัวรอดได้ เวลาอยู่ในสถานการณ์คับขันมันยากมากที่จะรอดได้

 

         น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ผอ.มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า สังคมไทยอยู่ท่ามกลางความย้อนแย้งและขัดแย้งมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับมายาคติการดื่มที่แตกต่างกัน เช่น มองผู้คนทั่วไปดื่มว่าเป็นการพักผ่อน แต่ถ้าเด็กเชียร์เบียร์ดื่มกลับมองว่าเป็นสิ่งไม่ดี อย่างคดีของ

     'ลัลลาเบล' สังคมจะมองว่าก็ทำอาชีพแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ ใครก็สามารถล่วงละเมิดทางเพศได้ ซึ่งความคิดเหล่านี้เป็นความคิดในเชิงอำนาจที่ถูกสะสมมาเป็นเวลานาน ผู้ชายสามารถดื่มเหล้าได้เวลาทำผิดจะมีข้ออ้างที่ไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นผู้หญิงดื่มจนเมาจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี การถูกละเมิดทางเพศก็เป็นเพราะตัวเอง

S__23920655

 

 'มายาคติเกี่ยวกับการดื่ม และโครงสร้างของสังคมไทยทำให้ยอมรับแบบนี้มานาน เด็กเชียร์เบียร์ เด็กเอ็นเตอร์เทน เสมือนเป็นใบอนุญาตให้คุกคามทางเพศ ละเมิดทางเพศได้ และครอบครัวไทยหล่อหลอมเลี้ยงดูลูกชายให้เป็นแบบนี้ เห็นผู้ชายแทะโลมพนักงานเชียร์เบียร์ หรือพนักงานบริการในสถานที่กลางคืนเป็นเรื่องปกติ การเสียชีวิตของลัลลาเบล ควรเป็นจุดที่สังคมไทยตื่นเกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบทางเพศพนักงานบริการ ควรมีการคุ้มครอง มีสวัสดิการให้เขาสามารถอยู่ในพื้นที่ทำงานแบบนักวิชาชีพ ควรมีหลักประกันและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คนมีอำนาจไม่ควรจะอยู่เฉยๆ เพราะการเสียชีวิตครั้งนี้เป็นการฉายสปอตไลท์ ในการยอมจำนงเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศ ควรรื้อโครงสร้างใหม่ของสังคมไทย' น.ส.นัยนา กล่าว

      นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์นั้น ปลอดภัยสุดคือต้องไม่ดื่ม แต่ถ้าหากต้องดื่มควรไม่เกิน 50 มิลลิกรัม หรือถ้าเป็นเบียร์ไม่เกิน 2 กระป๋อง ไวน์ไม่เกิน 2 แก้ว เหล้าไม่เกิน 2 เป๊ก และต้องรู้ลิมิตตนเอง แต่ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากส่งผลต่อประสาท การเคลื่อนไหว เสี่ยงต่อการหยุดหายใจ 

       ซึ่งหากพบเห็นใครที่มีอาการเหล่านี้ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ช่วยเหลือเบื้องต้นได้โดยการจัดท่านอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก รักษาระดับศีรษะและคอให้เท่าๆกัน ค่อยๆพลิกตัวให้นอนหงาย เรียกชื่อดังๆ ให้ลืมตากว้าง ลองจิ้มที่ตัวเพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนอง มองที่อกหรือท้องเพื่อดูจังหวะการหายใจ หายใจช้าลงหรือติดขัด ร่างกายไม่ตอบสนองให้ทำซีพีอาร์ แล้วเรียกรถพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งการใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารเสพติด จะส่งผลให้เกิดอาการเมาหมดสติและเสียชีวิตได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะสารเสพติดในกลุ่มยานอนหลับ

     

      นพ.พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่าปัจจุบันมีกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ นั่นคือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยระบุการห้ามขายในเรื่องสถานที่ วันเวลา แก่บุคคลใด การโฆษณา การสื่อสารการตลาด ซึ่งในกฎหมายนั้น เด็กเชียร์เบียร์ถือเป็นการตลาดแบบตรงเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ถ้าเป็นลักษณะจัดแข่งขันดื่มกันเองที่บ้านไม่สามารถเอาผิดได้ ดังนั้น กรณีของลัลลาเบล ต้องไปดูว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.หรือไม่อย่างไร

      'ตัวกฎหมายเน้นเอาผิดการขาย มากกว่าเอาผิดการดื่ม ซึ่งไม่ควบคุมในเรื่องปริมาณการดื่ม ขณะนี้จึงต้องออกอนุบัญญัติเพิ่มเติม เบื้องต้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทวงสาธารณะสุขเป็นประธาน เพื่อเสนอให้มีการปรับเพิ่มอนุบัญญัติให้สอดรับกับสถานการณ์การดื่มที่เปลี่ยนไป งานวิจัยยืนยันว่าระดับการดื่มแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัยที่สุด คือไม่ดื่ม เพราะแอลกอฮอล์ ทำร้ายร่างกายตั้งแต่หยดแรก แต่ถ้ายอมรับความเสี่ยงได้ต้องดื่มให้น้อยที่สุด และต้องไม่ดื่มแบบแข่งขัน เพราะคนที่ดื่มมากไม่ได้แปลว่าดื่มเก่ง จึงอยากฝากเตือนว่า การแข่งกันดื่มสุรา บังคับดื่ม ดื่มหนักดื่มให้หมดในเวลารวดเร็ว มันไม่คุ้มที่จะเอาชีวิตมาเสี่ยง'นพ.พงศ์ธร กล่าว