การ 'เกิด' ด้อยคุณภาพ ปัญหาสังคมที่รอการแก้ไข?

การ 'เกิด' ด้อยคุณภาพ ปัญหาสังคมที่รอการแก้ไข?

เร่งผลักดันการคุมกำเนิด เร่งสร้างเกราะป้องกันวัยรุ่นวัยใส ใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิดฟรี ให้ทุกการเกิดของเด็กไทยมีคุณภาพ

วันคุมกำเนิดโลก 26 กันยายน เวียนมาถึงอีกปีหนึ่ง ในประเทศไทยปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมหรือไม่พึงประสงค์ การเกิดด้อยคุณภาพ คุณแม่วัยใส การทำแท้ง เด็กทารกถูกทิ้ง ล้วนเป็นปัญหาสังคมที่รอการเยียวยาและแก้ไข ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งพ่อแม่ ตัววัยรุ่น สื่อ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม เป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำงานสอดประสานกัน     

 หากดูข้อมูลการตั้งครรภ์ของผู้หญิงไทยในปัจจุบันจะพบว่า อัตราการให้กำเนิดของผู้หญิงที่มีความพร้อมจะมีลูกอยู่ในระดับต่ำ โดยพบว่าอัตราการเพิ่มประชากรลดลง จากร้อยละ 2.7 ในปี พ.ศ. 2513 เหลือเพียงร้อยละ 0.2  ในปี 2562 และอัตราการเกิด มีเพียง 10.5 ต่อประชากรพันคน  นอกจากอัตราการเกิดที่ต่ำแล้ว ประเทศไทยยังเผชิญปัญหาการเกิดที่ด้อยคุณภาพ อันเกิดจากการท้องไม่พร้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่น ข้อมูลจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ระบุว่า ในปี พ.ศ.2561 วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 192 คน โดยมีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 7 คน ด้วยเหตุนี้ กรมอนามัย โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เดินหน้าผลักดันการเข้าถึงบริการคุมกำเนิดอย่างทั่วถึง เนื่องในวันคุมกำเนิดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 กันยายนของทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าการถือกำเนิดขึ้นของทุกชีวิตจะเป็นที่ปรารถนาและเกิดจากความรักโดยแท้จริง

            ปัจจุบันวัยรุ่นไทยยังไม่สามารถเข้าถึงบริการการคุมกำเนิดได้อย่างทั่วถึง เนื่องมาจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ การที่โรงพยาบาลไม่สามารถจัดบริการคุมกำเนิดได้หลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของวัยรุ่น ด้วยเหตุนี้ กรมอนามัยจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนค่าบริการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวรด้วยการใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิด ซึ่งเป็นวิธีที่ American College of Obstetrics and Gynecology และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำให้ใช้ร่วมกับถุงยางอนามัยเพื่อช่วยปกป้องวัยรุ่นจากโรคติดต่อและการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เนื่องจากการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิดนั้นมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดในระยะยาว  ซึ่งวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีหรือผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปในกรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย สามารถเข้ารับบริการคุมกำเนิดโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมถึงยังมีการสนับสนุนค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยให้กับสถานบริการในเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกด้วย

            ถึงแม้ว่าจะมีการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมยังไม่หมดไป เพราะอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการเข้ารับบริการคุมกำเนิดของวัยรุ่น นั่นคือ ทัศนคติของทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

            

นายแพทย์กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า “สังคมไทยยังมีภาพจำว่าเด็ก วัยรุ่น คนโสด คนเป็นหม้าย หรือคนที่ผ่านการหย่าร้างไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิด ซึ่งไม่เป็นความจริง เมื่อมีเด็กวัยรุ่นเดินเข้ามารับบริการคุมกำเนิด คนจะติดภาพว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กไม่ดี ส่งผลให้เด็กวัยรุ่นไม่กล้าเข้ารับบริการคุมกำเนิดทั้งที่บริการคุมกำเนิดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นการป้องกันตัวเอง และเป็นสิ่งที่ควรกระทำ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคมจึงเป็นงานที่สำคัญไม่แพ้กัน”

ด้านแพทย์หญิงสิรยา กิติโยดม สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา แพทย์ผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านการคุมกำเนิดโดยตรงกล่าวว่า “อยากให้การดำเนินงานด้านการคุมกำเนิดเป็นจุดเปลี่ยนของตัววัยรุ่น ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเราไม่ได้ให้บริการคุมกำเนิดแต่เพียงอย่างเดียว  แต่ยังให้ความรู้ ให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ชีวิตหลังคลอด เพื่อไม่ให้การตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจหรือไม่พร้อมกลายเป็นจุดจบของชีวิต แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่อยากฝากถึงวัยรุ่นไทย คือการรักตัวเอง คำว่ารักตัวเอง คือให้รักตัวเองให้มากที่สุด อย่ามองแค่วันนี้ แต่ให้มองถึงอนาคตข้างหน้า ถ้าวัยรุ่นสามารถรักตัวเองได้แบบนี้ สิ่งที่เหลือมันจะตามมาเอง ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย หรือการกล้าจะปฏิเสธเมื่อไม่พร้อม เพราะฉะนั้นจึงอยากฝากให้รักตัวเองให้มากๆ”

            การมีลูกเป็นงานที่ยากและหนักที่สุดงานหนึ่ง เพราะคนเป็นแม่ต้องทุ่มเทดูแลลูกตั้งแต่อยู่ในท้องจนกว่าลูกจะโตพอจะพึ่งพาตนเองได้ ถึงจะเป็นงานที่ยาก แต่การมีลูกและได้ดูแลลูกให้เติบโตอย่างดีก็เป็นความยากที่งดงามสำหรับคนเป็นแม่ ไม่ควรมีใครต้องเจ็บปวดจากการให้กำเนิด ไม่ว่าจะเป็นแม่หรือเด็ก ดังนั้น การตั้งครรภ์จึงควรเกิดขึ้นเมื่อมีความพร้อม และมีการวางแผนที่ดี ซึ่งรวมถึงการไม่ปล่อยให้ตัวเองตั้งครรภ์เมื่อยังไม่ถึงเวลา จะได้ไม่เป็นการทำร้ายทั้งเด็ก ตัวเอง และสังคม