แจงยิบขั้นตอน-อำนาจปธ.ศาลฎีกา ตั้งกสม.ชั่วคราว
"สำนักประธานศาลฎีกา" ออกแถลงการณ์ แจงทุกขั้นตอน หลัง "วัส ติงสมิตร" ร้อง ป.ป.ช.เอาผิด ปธ.ศาลฎีกา ยัน "ปธ.ศาลฎีกา-ปธ.ศาลปกครองสูงสุด" ไม่ได้เพิกเฉยกระบวนการ เดตไลน์ "เลขาฯวุฒิสภา" ส่งรายชื่อมาไม่เกิน 30 ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 10 ต.ค.62 ที่สำนักประธานศาลฎีกา ได้ออกเอกสารแถลงการณ์ กรณีที่ปรากฏข่าวตามสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.62 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ยื่นคำกล่าวหา ขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการไต่สวนและดำเนินการอื่นๆ ต่อประธานศาลฎีกา (ขณะนั้นนายชีพ จุลมนต์) กรณีเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และยังปรากฏว่า ประธาน กสม.ให้ข่าวแก่สื่อมวลชนอีกหลายครั้งในทำนองว่า ประธานศาลฎีกาไม่ดำเนินการแต่งตั้ง บุคคลให้ทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว เป็นเหตุให้ กสม.ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำให้ประเทศชาติ ประชาชน และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับความเสียหายนั้น
โดย เลขาธิการประธานศาลฎีกา และ เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ขอชี้แจงสรุปขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ กสม. ของประธานศาลฎีกา ดังนี้ ประธาน กสม. มีหนังสือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 31 ก.ค.62 เรื่องขอให้แต่งตั้งบุคคลเพื่อทำหน้าที่เป็น กสม. เป็นการชั่วคราว กราบเรียนมายังประธานศาลฎีกา ประธานศาลฎีกาจึงโปรดมีดำริให้สำนักประธานศาลฎีกาดำเนินการดังต่อไปนี้
1. มีหนังสือสอบถาม ไปยังสำนักงาน กสม. เพื่อขอทราบประวัติและผลงานของ กสม.ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อมาประกอบการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ทำหน้าที่เป็นการชั่วคราว เพราะการแต่งตั้งบุคคลให้ทำหน้าที่ชั่วคราวดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามมาตรา 8 คือต้องแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีประสบการณ์ในด้านต่างๆ ตามที่ระบุในมาตรา 8 (1) ถึง (5) ด้านละอย่างน้อย 1 คนแต่จะเกินด้านละ 2 คนไม่ได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องทราบประวัติและผลงานของ กสม.ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเสียก่อน เมื่อสำนักงาน กสม. มีหนังสือแจ้งประวัติและผลงานของ กสม. ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่กลับมา สำนักประธานศาลฎีกา จึงเรียนความเห็นต่อประธานศาลฎีกา ว่า กสม.ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ 3 คน อาจจัดว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ ตามมาตรา 8 อนุมาตราใด เพื่อจะได้ไม่แต่งตั้งบุคคลเข้าทำหน้าที่เป็นการชั่วคราวเกินจากที่กฎหมายกำหนด
2. มีหนังสือสอบถามไปยัง เลขาธิการวุฒิสภา เพื่อขอทราบรายชื่อ ข้อมูล และคุณสมบัติของบุคคลซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา กสม. เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง กสม. แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ , ขอทราบรายชื่อบุคคลที่ได้รับการสรรหา จากคณะกรรมการสรรหาฯ เพื่อแต่งตั้งที่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว , ขอทราบรายชื่อประวัติและคุณสมบัติของผู้สมัคร หรือผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา ซึ่งฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณากลั่นกรองและเห็นว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง กสม.ล่าสุด เพื่อประกอบการพิจารณาของประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดในการแต่งตั้งบุคคลเพื่อทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว
เมื่อเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหาฯ แจ้งรายละเอียดและข้อมูลดังกล่าวมายังสำนักประธานศาลฎีกาในวันที่ 30 ส.ค.62 แล้ว ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดได้ร่วมกันพิจารณามอบหมายให้ เลขาธิการประธานศาลฎีกา เป็นผู้ติดต่อไปยังบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 และเป็นบุคคลที่ได้รับการสรรหา จากคณะกรรมการสรรหาฯ และได้รับความเห็นชอบจาก สนช.ทำหน้าที่วุฒิสภา ให้ดำรงตำแหน่ง กสม.แล้ว เพื่อสอบถามความประสงค์ในการได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ กสม.เป็นการชั่วคราว แต่บุคคลดังกล่าวทั้งสองคนไม่ประสงค์รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นการชั่วคราว
ต่อมาวันที่ 1 ต.ค.62 ประธานศาลฎีกา (นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์) และประธานศาลปกครองสูงสุด ได้หารือที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ ครั้งที่ 6/2562 กรณีประธาน กสม. มีหนังสือแจ้งให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด เร่งดำเนินการแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกสม. เพื่อทำหน้าที่เป็น กสม. ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบให้ เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหาฯ ดำเนินการเสนอชื่อบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับ กสม. ที่เป็นปัจจุบัน ต่อประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน (คือวันที่ 31 ต.ค.นี้) โดยขณะนี้ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว
กรณีดังกล่าว เลขาธิการประธานศาลฎีกา และ เลขาธิการศาลปกครอง พิจารณาแล้ว เห็นว่า การแต่งตั้งบุคคลให้ทำหน้าที่ กสม.เป็นการชั่วคราวมีประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณา คือ จะต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้เวลาและขั้นตอนในการตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดอันอาจส่งผลเสียหายโดยรวมต่อประเทศชาติ ประชาชน และกสม. จะต้องได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและความเหมาะสม ตลอดจนความเสียสละในการเข้ารับหน้าที่เพียงชั่วคราว ซึ่งอาจส่งผลในอนาคตต่อการเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการในองค์กรอิสระอื่นๆตาม
และเมื่อ ประธานศาลฎีกา ได้โปรดร่วมกันพิจารณากับ ประธานศาลปกครองสูงสุด ให้สำนักประธานศาลฎีกา เชิญบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม มาสอบถามความประสงค์และความยินยอมในการรับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ กสม.เป็นการชั่วคราวแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดที่แจ้งความประสงค์และยินยอมที่จะได้รับการแต่งตั้ง กรณีจึงมีเหตุจำเป็นที่ทำให้การแต่งตั้งไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งยังรอรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายที่เป็นปัจจุบัน
ขอชี้แจงเพิ่มเติมทำความเข้าใจมายังทุกฝ่ายว่า ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด มิได้เพิกเฉยต่อการแต่งตั้งบุคคลในเรื่องดังกล่าว เมื่อได้รับรายชื่อของบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นปัจจุบัน จะได้นำกราบเรียนประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อโปรดพิจารณาต่อไป