'น่านโมเดล' เศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืน
“น่าน”เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว และมีความสำคัญในฐานะป่าต้นน้ำที่สำคัญของลุ่มน้ำภาคกลางเพราะน้ำกว่า 45% จากน่านไหลลงสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนดิน แต่ในอดีตน่านกลับเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประชากรที่ติดกับดักความยากจน
สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริจึงเลือก จ.น่าน เป็นพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่เมื่อปี 2552 ถึงปัจจุบันมีการดำเนินการโครงการต่างๆในพื้นที่มาแล้วกว่า 10 ปี โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนกำหนดพื้นที่นำร่องเป็นต้นแบบ 3 อำเภอ คือ 1.อำเภอท่าวังผา 2.อ.สองแคว และ 3.อ.เฉลิมพระเกียรติ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 250,000 ไร่ ในพื้นที่ 4 ตำบล 20 หมู่บ้าน ซึ่งสถาบันฯอยู่ระหว่างวางแผนการพัฒนา จ.น่านต่ออีก 5 ปีข้างหน้า
นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริกล่าวว่า จากการที่ปิดทองหลังพระฯได้ประยุกต์แนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่านถือว่าประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆในการสร้างโมเดลการพัฒนาพื้นที่ชนบทซึ่งเดิมประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหายากจน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งจากอาชีพหลักและอาชีพเสริม การปลูกพืชทางเลือกสามารถสร้างรายได้เสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างรายได้อื่นๆ ลดหนี้ได้ มีเงินออม มีผลผลิตที่สร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ และกำลังก้าวเข้าสู่ “ความยั่งยืน” จากความร่วมมือของหน่วยงานภาคีต่างๆ
อีกทั้งนำมาสู่นโยบายของจังหวัดในการขยายผลตามแนวทางของ ปิดทองหลังพระฯ ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วทั้งจังหวัด โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ถ่ายทอดความรู้ในกระบวนการเข้าใจ เข้าถึง แก่ทีมปฏิบัติงานระดับจังหวัดและอำเภอรวมถึงการส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อให้ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเข้มแข็งสนับสนุนการรวมกลุ่มและพึ่งพาตนเองได้ของประชาชนเป็นหลัก
การพัฒนาพื้นที่ได้ใช้หลักทฤษฎีบันได 3 ขั้นคือ
1.การสร้างความอยู่รอดในระดับครัวเรือนโดยขยายระบบน้ำเพื่อการเกษตร สามารถเพิ่มพื้นที่รับน้ำได้ 11,620 ไร่ จากเดิมมีเพียง 2012 ไร่ช่วยให้ผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้นสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร 739 ล้านบาท
2.ส่งเสริมการรวมกลุ่มการผลิตสินค้าในระดับชุมชนเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้ได้ตามความต้องการของตลาด โดยมีกลุ่มและกองทุนของชาวบ้านในพื้นที่ 24 กลุ่มมีครัวเรือนที่เข้ามาเป็นสมาชิกในกองทุน 779 ครัวเรือน
3.การสนับสนุนให้ชุมชนเชื่อมโยงออกสู่ภายนอกโดยเปิดรับเทคโนโลยี และนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ โดยมีกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐานสินค้าเกษตรสามารถเชื่อมโยงกับตลาดที่รับซื้อผลผลิตของชุมชน การส่งเสริมองค์ความรู้การแปรรูปเพิ่มมูลค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์เชื่อมโยงตลาดภายนอก รวมทั้งส่งเสริมพืชหลังนา พืชที่มีตลาดรองรับ พัฒนากลุ่มและกองทุนในพื้นที่ให้มีพื้นที่ค้าขายมากขึ้น
การผลักดันโครงการต่างๆในพื้นที่ต้นแบบของปิดทองหลังพระทำให้ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนอยู่ที่ 150,115 บาทต่อครัวเรือนต่อปี สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆในจังหวัดน่านที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 19,591 บาทต่อครัวเรือน ขณะที่หนี้สินโดยเฉลี่ยของคนในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯในจ.น่าน ก็ต่ำกว่าพื้นที่อื่น โดยเฉลี่ยมีหนี้สินอยู่ที่ 43,718 บาทต่อครัวเรือน ขณะที่ในพื้นที่อื่นๆมีหนี้สินเฉลี่ยสูงถึง 201,991 บาทต่อครัวเรือน
“น่านเป็นเสมือนSocial labเราจะผลักดันให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดต่างๆในภาคเหนือ ควบคู่กับการส่งเสริมให้เกษตรกร เข้าในเรื่องการทำการตลาดมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจภาคเกษตรให้มีความยั่งยืนซึ่งเมื่อรวมกับการเสริมความรู้เรื่องของการใช้เทคโนโลยีให้กับเกษตรกรก็จะช่วยลดช่องว่างระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคและช่วยตัดวงจรของพ่อค้าคนกลางได้"
นายศรีรุ่ง รัตนศิลา ประธานหอการค้าจังหวัดน่านกล่าวว่าจังหวัดน่านกำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต เพราะถนนเส้นทางห้วยโก๋น-หงสา-หลวงพระบาง ระยะทาง 114 กิโลเมตร งบประมาณ 1,900 ล้านบาท ที่ประเทศไทยให้งบประมาณ สปป.ลาวกู้ยืม ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยทำให้การเดินทางจากน่านไปยังเมือหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก ใช้ระยะเวลาในการเดินทางเพียง 3 ชั่วโมงซึ่งจะทำให้บทบาทของเมืองน่านกลายเป็นเมืองผ่านไปสู่จุดท่องเที่ยวที่สำคัญจากเดิมที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ต้องเดินทางไปโดยเฉพาะเท่านั้น
“การเปลี่ยนแปลงทางด้านคมนาคมจะทำให้เศรษฐกิจจังหวัดน่านเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งหอการค้าก็มีการจับตาดูอยู่ว่าจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับคนในท้องถิ่นน่านได้อย่างไรบ้าง ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบการเพิ่มพื้นที่การค้าสินค้าเกษตร และสินค้าท้องถิ่น ซึ่งตอนนี้พืชเศรษฐกิจที่ชาวบ้านสามารถนำมาจำหน่าย แปรรูปต่อยอดได้มากคือมะขามเปรี้ยว และไผ่ ซึ่งเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ดี ส่วนพืชชนิดอื่นๆก็ต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าเช่น เป็นอาหารอินทรีย์ และเครื่องสำอาง”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-8 นามพระราชทาน โครงการชลประทาน
-'น่านโมเดล' เศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืน
-เจาะลึก 11 โครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่
-สทนช.เร่ง 2 โครงการช่วยชาวชัยภูมิ สนองพระราชดำริ