เข็นเที่ยวไทยสู้ศึกปี 63 เป้าติดท็อป 6 โลกเคลื่อนเศรษฐกิจ
ยังคงต้องจับตาดูว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 รัฐจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้นได้หรือไม่ หลังอัดงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านหลายภาคส่วนในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ “ภาคท่องเที่ยว” ซึ่งกำลังเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซัน จำต้องรับบทหนัก ในการแบกรับภารกิจขับเคลื่อนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ให้ถึงเป้าหมายที่ 3% ในปีนี้ ในภาวะที่ภาคส่งออกชะลอตัวต่อเนื่อง
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคท่องเที่ยวไทยเติบโตทั้งจำนวนคนและรายได้ ปิดตัวเลขปี2562ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ39.8ล้านคน สร้างรายได้2.04ล้านล้านบาท ขณะที่นักท่องเที่ยวไทย คาดการณ์ไว้ที่180ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้1.05ล้านล้านบาท เมื่อรวมรายได้ทั้งในและต่างประเทศแล้ว ต้องเห็นตัวเลข3.1ล้านล้านบาท เพราะนี่คือส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายจีดีพีขยายตัวประมาณ3%
จึงได้สั่งการให้ทุกสำนักงานของ ททท. “รักษายอดนักท่องเที่ยว” ของแต่ละตลาด โดยเฉพาะตลาดที่เผชิญความท้าทาย เช่น ออสเตรเลีย, อิหร่าน, อิตาลี และกลุ่มสแกนดิเนเวีย ขณะที่บางตลาดยังเห็นการเติบโตดี เช่น ภูมิภาคอเมริกาทั้งเหนือและใต้ มีแนวโน้มเติบโต5-10%ขณะที่ตลาดใหญ่อย่างจีนและอาเซียนก็ยังขยายตัวได้
จากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้มีโอกาสสูงที่ยอดจะเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล และมีแนวโน้มที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 40 ล้านคน หลังสถิติเบื้องต้นตั้งแต่1ม.ค.-14ต.ค.2562 พบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมแล้ว 30 ล้านคน ส่วนรายได้ยังต้องออกแรงเข็นกันต่อ ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ค่อยสู้ดี มีปัจจัยบาทแข็งส่งผลต่อ “ต้นทุนการเดินทาง” นักท่องเที่ยวต่างชาติระมัดระวังการใช้จ่าย กลายเป็นว่าไฮซีซันนี้แทนที่นักท่องเที่ยวมองหาแพ็คเกจทัวร์และที่พักราคาถูก จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ททท.ต้องเดินหน้าทำการตลาดลงลึกระดับเซ็กเมนต์ที่มีศักยภาพใช้จ่ายสูง
ทว่า เมื่อมองไปข้างหน้า ยุทธศักดิ์ บอกว่า ปี2563 ถือเป็น “งานหนัก” ของภาคท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะรัฐบาลต้องการให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเป็น 41.8 ล้านคน สร้างรายได้เพิ่มเป็น2.22ล้านล้านบาท ติดอันดับ1ใน6ของประเทศที่สร้างรายได้ท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก ขณะที่องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ระบุว่า รายได้ของภาคท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิก จะเติบโตไม่เกิน 7% ส่งผลให้ ททท.ต้องปรับลดอัตราการเติบโตของรายได้รวมท่องเที่ยวไทย จากเป้าเดิมโตปีละ 10% เหลือโตปีละ8%ในช่วง3ปีข้างหน้า หรือตั้งแต่ปี2563-2565
“ประเมินว่าในปี 2563 จีดีพีไทยน่าจะโตประมาณ 3% เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโต 3% ขณะที่เห็นชัดว่าทุกประเทศจะหันมาเอาดีด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น มีบิ๊กอีเวนท์และจัดแคมเปญโปรโมทเพื่อสร้างเม็ดเงินท่องเที่ยวสะพัดในแต่ละประเทศ”
อย่างญี่ปุ่นก็มีโอลิมปิก2020สานเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเยือน40ล้านคน, เวียดนามมีการจัดแข่งขันเอฟวัน (F1), ยุโรปมีจัดฟุตบอลยูโร เป็นครั้งแรกที่มีเจ้าภาพร่วมมากที่สุด12ประเทศ, มาเลเซียประกาศให้ปีหน้าเป็นVisit Yearส่วนจีนก็โปรโมทท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น
ททท.จึงต้องปรับกลยุทธ์ปี2563เพื่อ “ท้าชน” กับเหล่าบิ๊กอีเวนท์และแคมเปญของคู่แข่ง เพื่อ “รักษาตัวรอด” นอกเหนือจากตลาดหลักแล้ว ตลาดดาวรุ่งอื่นๆ ก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ถึงฝั่งฝัน 41.8 ล้านคน เช่น ฟิลิปปินส์ พบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มพักผ่อนทั่วไป (Leisure)เติบโตดี20%จาก3แสนคนเป็น5แสนคน, ซาอุดิอาระเบียมีการเปิดประเทศ และประเทศในยุโรปกลางอย่างโปแลนด์ และออสเตรีย เข้ามาช่วยเติมยอดแก่ภาพรวมตลาดยุโรป หลังตลาดใหญ่อย่างอังกฤษและเยอรมนีติดลบ
ขณะเดียวกัน ททท.จะครบรอบ 60 ปีในเดือน มี.ค.ปี 2563 จึงเตรียมแผนโปรโมทท่องเที่ยวทั้งในระดับประชาชน ผู้ประกอบการ และระดับองค์กร โดยมีแนวคิดพัฒนาแคมเปญใหม่ “เดอะ เบสต์ ทริป อิน เดอะ เวิลด์” เชิญชาวต่างชาติมาเที่ยว “ทริปที่ดีที่สุดในโลก” ที่ไทย ให้คนทั้งโลกสมัครเพื่อรับการคัดเลือกจากแต่ละสำนักงานของ ททท. รวมทั้งหมด60คู่
เบื้องต้นต้องเป็นKOL(Key Opinion Leader)หรือผู้มีอิทธิพลในการชี้นำความคิดและมียอดคนติดตามระดับหนึ่งเพื่อต่อยอดในเชิงพีอาร์ และตรงตามเป้าหมายการเจาะเซ็กเมนต์ของ ททท. เช่น คู่หูนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางเพศ(LGBTQ)นักกีฬา หรือสนใจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทย จะโปรโมท 60เส้นทางความสุข และทุกๆ กิจกรรมในปี 2563 จะเน้น “Green Activity” มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม หลังรายงาน “เดอะ แทรเวล แอนด์ ทัวริสซึ่ม คอมเพททิทีฟเนส รีพอร์ต 2019” ของ “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม” ระบุว่าขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคการเดินทางและท่องเที่ยวของไทยขึ้นมาอยู่อันดับที่ 31 ของโลก จากอันดับที่ 34 ก็จริง แต่ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนกลับแย่ลง อยู่อันดับที่ 130 จากเคยอยู่อันดับที่122นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ ททท.ที่ต้องปลุกกระแสท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบในวาระครบ60ปีในปีหน้า!