'สนธิรัตน์' ปูพรมบี10 ดันเศรษฐกิจฐานราก

'สนธิรัตน์' ปูพรมบี10 ดันเศรษฐกิจฐานราก

“สนธิรัตน์” ปูพรมน้ำมัน “บี10” ใช้ทั่วประเทศ ม.ค.63 เพิ่มการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ แก้ปัญหาราคาตก ตั้งเป้าต่อยอดสู่ไบโออีโคโนมี

การสัมมนา “B10 ปฎิรูปน้ำมันบนดิน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” จัดโดยบริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป ประกอบด้วย ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก และกระทรวงพลังงาน วานนี้ (21 ต.ค.) เพื่อสร้างการรับรู้แนวทางการผลักดันนโยบาย B10

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายและทิศทางขับเคลื่อนพลังงานทดแทน” ในงานสัมมนา B10 ปฏิรูปน้ำมันบนดินเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ว่า กระทรวงพลังงาน มีนโยบายชัดเจนที่จะส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 โดยประกาศให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมเดินไปข้างหน้า เพื่อส่งเสริมไบโอดีเซลอย่างแท้จริง และเป็นไปตามที่ได้ประกาศนโยบาย Energy for all หรือ การใช้พลังงานสร้างประโยชน์ให้กับทุกคน เพราะพลังงานเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศได้

นอกจากนี้ จะดูแลผู้บริโภคให้มีต้นทุนพลังงานที่แข่งขันได้ และ B10 เป็นหัวใจสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประเทศได้ เพราะเกษตรกร 30 ล้านราย อยู่บนฐานอาชีพเกษตรกรรม และปาล์ม ซึ่งเป็น 1ใน 5 ของพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ แต่ปัจจุบันยังเผชิญกับปัญหาผลผลิตมากกว่าความต้องการ โดยมีผลผลิตส่วนเกินอยู่ที่ 4-5 แสนตัน จากระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 2.5 แสนตัน 

แก้ผลผลิตเกษตรตกต่ำ

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อสต็อกส่วนเกินขึ้นไปแตะระดับ 3 แสนตัน ก็จะทำให้เกิดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องบริหารจัดการให้เกิดสมดุลระหว่างผลผลิตและความต้องการ ซึ่งปริมาณส่วนใหญ่ดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้นำมาใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงน้ำมันแล้ว 

รวมทั้งที่ผ่านมาได้เร่งส่งเสริมการใช้ดีเซล B20 กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ แม้ว่าจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย คือ มียอดการใช้ 5 ล้านลิตรต่อวัน และปัจจุบัน ก็ไม่สามารถส่งเสริมได้เกิน 6 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า B20 ยังไม่สามาถแก้ไขปัญหาได้ จึงต้องปรับไปสู่ B10 ซึ่งจะดึงยอดการใช้จาก B7 ที่มีอยู่ 60 ล้านลิตรต่อวัน ไปสู่การใช้ B10 อยู่ที่ 57 ล้านลิตรต่อวัน หรือ ช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) อยู่ที่ 4 แสนตัน เพื่อทำให้เกิดสมดุลได้

ดังนั้น การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวานนี้ (21 ต.ค.) กระทรวงพลังงาน ได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวนโยบายในการส่งเสริมดีเซล B10 

ป้องกันลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม

โดยกระทรวงพลังงานได้ส่งสัญญาณว่า เมื่อประกาศใช้ดีเซล B10 ชัดเจนแล้ว ก็ขอให้ทางกระทรวงพาณิชย์ดูแลอย่าให้เกิดปัญหาลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน้ำมันปาล์มดิบในอนาคต โดยขอให้ดำเนินการ ดังนี้ 1.ตรวจเข้มสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศให้ชัดเจนอย่าให้เกิดปัญหาสต็อกลดจนต้องปรับนโยบายลดส่วนผสมกลับไปสู่ B5 และ B7 เพราะจะทำให้กลไกแก้ปัญหาสะดุดลง

2.กระทรวงพลังงาน ต้องการแก้ไขปัญหาลักลอบอย่างจริงจัง โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมา ได้ขอดูแลสต็อกน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% (B100) ในส่วนของเชื้อเพลิงที่คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ หรือ ปริมาณ 2.2 ล้านตันต่อปี 

ยกระดับสู่ไบโออีโคโนมี

ทั้งนี้ จะเริ่มรับน้ำมันปาล์มดิบมาผสมสารเติมแต่ง (Marker) ใน B100 ตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้ เป็นต้นไป เพื่อส่วนกันให้ชัดเจน และจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสต็อกปริมาณ 1 ใน 3 ที่เป็นส่วนของการบริโภคปริมาณ 0.9-1 ล้านตันต่อปี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการลักลอบ ซึ่งหากคุมกันปัญหาการลักลอบได้ก็จะดูแลราคาผลผลิตให้กับเกษตรกรได้

“การเดินหน้า B10 ครั้งนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่สะสมมายาวนาน และอนาคตกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายยกระดับไปสู่เรื่องของไบโอเคมีคัล และไบโออีโคโนมี ซึ่งจะทำให้ราคาซีพีโอ จากปัจจุบัน 18 บาทต่อกิโลกรัม ขยับผลผลิตไปสู่ 60 บาทต่อกิโลกรัมได้ แต่ก็ขอให้เกษตรกรอย่าเพิ่งรีบร้อนเร่งปลูกปาล์มและนโยบายนี้อาจนำไปสู่เรื่องของคอนแทรคฟาร์มมิ่ง เพื่อควบคุมการเพาะปลูกไม่ให้เป็นปัญหาราคาตกต่ำในอนาคต ซึ่งนโยบายในจุดนี้จะเป็นการเริ่มต้นดูแลทั้งระบบอย่างแท้จริง”

ดันแก๊สโซฮอลล์-หารือค่ายรถยุโรป

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน จะประกาศทิศทางการส่งเสริมแก๊สโซฮออล์ ที่จะแก้ปัญหา 2 พืชเศรษฐกิจสำคัญ คือ อ้อย และมันสำปะหลัง ที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงสำคัญ แต่เรื่องนี้ปัญหาใหญ่จะอยู่ที่ อ้อย เพราะมันสำปะหลังปริมาณซัพพลายมีน้อยกว่าความต้องการใช้ในประเทศ แต่มันสำปะหลังที่จะนำมาทำเอทานอลจะต้องเป็นกลไกสำคัญที่จะกระฉากราคาผลผลิตในช่วงที่ออกสู่ตลาดปริมาณมากได้

แต่เรื่องใหญ่มากที่จะต้องเร่งผลักดัน คือ อ้อย เพราะขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ และตัวแทนพี่น้องเกษตรเริ่มมายื่นหนังสื่อเรียกร้องว่าอยากเห็นราคาอยู่ที่ 900-1,000 บาทต่อตัน ซึ่งจากกลไกขณะนี้ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะการใช้เบนซินของไทย อยู่ที่ 20-30 ล้านลิตรต่อวัน ต่างจากดีเซลที่ใช้อยู่ 70 ล้านลิตรต่อวัน ฉะนั้น เอทานอล แม้จะเติมเข้าไป 20% ก็ดูดซับได้แค่จำนวนหนึ่ง แต่ก็อยู่ระหว่างหาวิธีที่จะดำเนินการให้เหมาะสมต่อไป

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ขอให้ค่ายรถทุกค่ายมั่นใจว่า ภาครัฐจะเดินหน้าส่งเสริม B10 ไม่เปลี่ยนแปลง และขอให้การผลิตรถยนต์ต่างๆ เข้ากลไกนี้ อีกทั้งจะเดินหน้าหารือกับต่อไปถึงการขยับไปสู่การปรับปรุงน้ำมันให้ได้ตามมาตรฐาน ยูโร 5 ขณะเดียวกันยังยืนยันว่า B10 มีรถยนต์ที่ใช้ได้ถึง 50% หรือกว่า 5 ล้านคันของจำนวนรถที่เติมดีเซลที่มีอยู่ 10.5 ล้านคันได้

157167390392

เพิ่มดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “B10 ความเชื่อมั่นกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”ว่า การส่งเสริมใช้ดีเซล B10 และ B20 หากทำได้ตามแผนที่กระทรวงพลังงานได้วางไว้ ก็คาดว่าจะเริ่มเห็นผลตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้ เป็นต้นไป จะช่วยดูดซับ B100 ได้ 6.2 ล้านลิตรต่อวัน หรือ เทียบเท่าน้ำมันปาล์มดิบ 168,360 ตันต่อเดือน ก็จะช่วยควบคุมสต็อกซีพีโอส่วนเกินได้

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตปาล์มดิบเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ฉะนั้น ในช่วงที่เกิดปัญหาราคาตกต่ำ และก็จะเกิดการทะลักเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยเฉพาะในทางภาคใต้ที่มีการขนส่งเข้ามาผ่านมาเรือ และรถ จึงต้องมีมาตรการควบคุมดูแล ซึ่งกรมศุลกากร ก็จะเป็นอีกหน่วยงานสำคัญที่มีการติดตั้งกล้อง CCTV ตรวจเข้ม เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าคู่ขนานไปกระทรวงพาณิชย์

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมกันจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะต้องมีการขึ้นทะเบียนเกษตร ให้สามารถตรวจสอบปริมาณน้ำมันปาล์มดิบย้อนกลับตั้งแต่โรงสกัดไปยังพื้นที่เพาะปลูกได้ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ จะมีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อเช็คสต็อกปาล์มในลักษณะเดียวกับที่มีการตรวจสต็อกข้าวด้วย โดยอยู่ระหว่างการดำเนินเรื่องเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนดำเนินการต่อไป

“พลังงาน”เล็งถกค่ายรถยุโรป

ส่วนกระทรวงพลังงาน ก็เน้นการดูแลเรื่องของการพัฒนาเตรียมความพร้อมไปสู่ดีเซล B10 ที่ปัจจุบัน มีผู้ผลิต B100 ในประเทศ 13 ราย ปริมาณ 8.3 ล้านลิตรต่อวัน ผสมเป็น B10 ตามสเปกได้แล้ว 9 ราย ปริมาณ 6.8 ล้านลิตรต่อวัน และขั้นตอนต่อไปจะต้องหารือกับค่ายรถยนต์ยุโรป เพื่อให้เกิดการยอมรับมาตรฐานดีเซล B10 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถ และเดินหน้าส่งเสริมดีเซล B10 ต่อไปได้ เนื่องจากปัจจุบันรถยนต์เก่าส่วนใหญ่เป็นค่ายยุโรป ยังจำเป็นต้องเติมดีเซล B7

ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จะยังคงเก็บดีเซล B7 ไว้เป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้รถเก่า ส่วนรถยนต์ใหม่ก็จะเดินหน้าส่งเสริมดีเซล B10 ต่อไป ขณะที่ดีเซล B 20 จะยังเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ปรับลดการอุดหนุนราคา B20 ลงจากเดิม 5 บาทต่อลิตร เหลือ 3 บาทต่อลิตร เพื่อนำเอาส่วนต่าง 2 บาทต่อลิตร ไปชดเชยให้ราคา B10 ถูกกว่า B7 อยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร ซึ่งจะเป็นการจูงใจประชาชนให้หันมาเติบน้ำมันดีเซล B10 มากขึ้น