ฝ่ายค้านขวางต่อสัมปทานบีทีเอส จ่อซักฟอก-ยื่นป.ป.ช.
คณะกรรมาธิการวิสามัญ ซีกฝ่ายค้าน ยกผลศึกษา 5 ข้อเสียการขยายสัปทานบีทีเอส 40 ปี อ้างหนี้ ขัดพรบ.ร่วมทุนฯ ทำรัฐเสียประโยชน์ เตรียมเปิดอภิปรายไมไว้วางใจ ยื่น ป.ป.ชไต่สวน "อนุพงษ์"
ที่รัฐสภา นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. มหาสารคาม และอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญการต่อขยายสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า บีทีเอส สภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงข่าวคัดค้านกรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุว่า จะนำเรื่อง การต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสออกไปอีก 40 ปีเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คเศรษฐกิจในวันศุกร์ที่ 1 พ.ย. 62 นี้ ทั้งที่เรื่องการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภาได้ศึกษาและสรุปว่าไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีความจำเป็น รัฐบาลและประชาชน จะเสียผลประโยชน์
โดยกรรมาธิการมีเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย ดังนี้
1.สัญญาสัมปทานยังเหลืออีก 10 ปี สิ้นสุดสัญญาปี 2572 ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ
2.ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) และสายสีเขียวใต้(แบร์ริ่ง-บางปู) กทม.โดยกรุงเทพธนาคม KT ได้ว่าจ้างให้บีทีเอสเดินรถเรียบร้อยแล้ว ประชาชนสามารถใช้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ได้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นสัญญาจ้าง ไม่ใช่สัมปทาน จะหยุดเมื่อไรก็ได้
3.รอสัญญาสัมปทานบีทีเอสหมดลงในปี 2572 แล้ว เปิดประมูลใหม่ทั้งสายจะได้มีการแข่งขัน ที่เป็นธรรม ประชาชนจะได้ค่าโดยสารที่ถูกลง และระบบรถไฟฟ้าจะเป็นระบบเดียวกัน
4.การดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ที่ 2/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.62 หลังเจรจาจบให้ถือว่าสัญญา บีทีเอสเข้า พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ปี 2562 (PPP) โดยปริยาย ถือว่าเอื้อประโยชน์ ทำผิดกฎหมาย เพราะที่ผ่านสัญญาจ้างวิ่งเขียว เหนือ-ใต้ ระหว่างกทม-บีทีเอส หนี พ.ร.บ.ร่วมทุนมาโดยตลอด และเรื่องก็โดนสอบสวนอยู่ที่ ป.ป.ช. และดีเอสไอ ถ้าจะเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน ก็ต้องศึกษา เสนอโครงการใหม่ให้คณะกรรมการ PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน เห็นชอบก่อน ถึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือก
5.การเอาข้ออ้างเรื่องหนี้ค่าก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้า มาเป็นเหตุเจรจาให้ บีทีเอสรับหนี้แทน แลกการต่อสัมปทาน ไม่มีเหตุผล เพราะกทม.หรือ รฟม.ก็คือรัฐ ในเมื่อรัฐลงทุนแล้ว ต้นทุนตำ่กว่าเอกชน เรื่องหนี้ระหว่าง รฟม. และ กทม. ให้ กระทรวงการคลัง ไปจัดการกันในรัฐบาลได้
ดังนั้นหาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ยังคงจะดึงดัน นำเรื่องการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้า บีทีเอสออกไปอีก 40 ปี เข้าที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจทั้งๆที่มีเรื่องความไม่โปร่งใส ตนจะได้ รวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นให้กับทางพรรคเพื่อไทย เพื่อเตรียมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้สอบสวน รมว. มหาดไทยและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ทั้งคณะ เพราะต่อให้ในกรณีนี้ จะมี ม.44 มารองรับก็ตาม แต่การออก ม.44 จะต้องออกโดยชอบเท่านั้น