ไทยรั้งที่ 3 ขีดแข่งขันเที่ยวอาเซียน เร่งยั่งยืน “ปลอดภัย-สิ่งแวดล้อม”
หลังจากสภาเศรษฐกิจโลก หรือ “World Economic Forum” ได้จัดทำรายงาน Travel & Tourism Competitiveness Report 2019 ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขัน
ด้านการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ พิจารณาจากดัชนี 14 รายการ และแต่ละรายการมีคะแนนเต็ม 7 คะแนน โดยในรายงานฉบับปี2019 ซึ่งถูกเผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีประเทศที่ทำการจัดอันดับทั้งสิ้น 140 ประเทศ
เมื่อโฟกัสเฉพาะภูมิภาค “อาเซียน” พบว่า “ไทย” ได้รับคะแนนรวม 4.5 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 31 ของโลก แม้อันดับโลกจะดีขึ้นจากอันดับที่34เมื่อปี2017แต่ยังเป็นรองสองประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ อันดับที่17ของโลก เป็นประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวสูงที่สุดในอาเซียน และ มาเลเซีย อันดับที่29ของโลก ส่วนประเทศที่มีความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นมากที่สุดในกลุ่มอาเซียนคือ เวียดนาม และฟิลิปปินส์
และจากการพิจารณาดัชนี14รายการ พบว่าดัชนีที่ไทยมีอันดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวดีที่สุด3อันดับแรก คือ ดัชนีทรัพยากรธรรมชาติ (อันดับที่10)ดัชนีโครงสร้างพื้นฐานบริการด้านการท่องเที่ยว (อันดับที่14)และดัชนีการแข่งขันราคา (อันดับที่25)
ส่วนดัชนีที่มีอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวน้อยที่สุด3อันดับ คือ ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม (อันดับที่130) ความมั่นคงปลอดภัย (อันดับที่111)และสุขภาพและอนามัย (อันดับที่88)นอกจากนี้ยังพบว่ามีจำนวน4ดัชนีที่อันดับของไทยลดลง ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ, การแข่งขันด้านราคา, โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
สะท้อนชัดว่าหนึ่งในประเด็นที่ภาคท่องเที่ยวไทยต้องให้ความสำคัญและยกระดับอย่างเร่งด่วน คือความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ ททท.ตั้งใจดูแลและรณรงค์อย่างจริงจัง เช่น โครงการ “ลดโลกเลอะ” และได้ทำปฏิญญา “เที่ยวไทยเท่ ไม่สร้างขยะ ลดโลกเลอะ” ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวลดและเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยว และหันมาใช้วัสดุธรรมชาติเพื่อทดแทน
“ในวาระ ททท.ครบรอบ60ปี ในปีหน้า ทุกกิจกรรมการตลาดจะเป็นกิจกรรมสีเขียว (Green Activity)เน้นรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก หลังจากอันดับดัชนีความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมท่องเที่ยวไทยแย่ลง หล่นจากอันดับ122เมื่อปี2017มาอยู่ที่อันดับ130ในปี2019”
ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวเสริมว่า เมื่อ2-3ปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่อง “ความยั่งยืน” ยังไม่มีกระแสความสนใจชัดเจนมากนัก ต่างจากตอนนี้ซึ่งนับเป็นจังหวะดีมากที่คนไทยกำลัง “ตื่นตัว” โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ททท.จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ“ปฏิญญายูเนสโกเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” จับมือกับ เอ็กซ์พีเดีย กรุ๊ป และ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เพื่อสร้างกระแสการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
“ไทยถือเป็นจุดหมายที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตต่อเนื่องทุกปี และเมื่อมีประเด็นเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ททท.ก็มองว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำงานกับทุกฝ่าย รวมถึงด้านซัพพลาย เพื่อสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ดีแก่ทุกๆ คน”
ด้าน อลิสรา ศิวยาธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมศิวาเทล เล่าว่า ภาคท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเซ็กเตอร์ที่มีการบริโภคสูงมาก เกิดขยะหรือของเหลือใช้ ต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ โรงแรมศิวาเทลจึงได้ปรับพฤติกรรมการใช้สินค้าภายในโรงแรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการหันมาบริหารจัดการขยะอย่างจริงจัง เลือกบริการน้ำดื่มบรรจุขวดแก้วแทนขวดพลาสติก และลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง นอกจากนี้ยังเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค สั่งซื้อจากฟาร์มโดยตรง สอดรับกับเทรนด์โลกที่ผู้คนนิยมบริโภคอาหารออร์แกนิคมากขึ้น
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล และประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อม สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) บอกว่า ปัจจุบันหลายๆ โรงแรมในไทยมี “แพสชั่น” (Passion)ทำการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น ถือเป็นแนวคิดที่สมาคมฯได้ประชาสัมพันธ์มาตลอดในช่วง6ปีที่ผ่านมา เพราะมองว่าโรงแรมที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จะได้ผลตอบรับที่ดีทั้งในมิติชื่อเสียงของโรงแรมและความสนใจเข้าจองห้องพักจากลูกค้า
อย่างโรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ซึ่งมีขนาดกว่า500ห้องพัก ได้วางแนวทางไว้หลายอย่าง อาทิ มีห้องพักสีเขียว (Green Room)ที่เน้นใช้วัตถุอินทรีย์เป็นองค์ประกอบของบริการในห้องพัก เช่น ผ้าลินินไม่ฟอกขาว นอกจากนี้ยังเลือกซื้อข้าวอินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรงอีกด้วย