คน&สังคมแฮบปี้ ธุรกิจยั่งยืน สูตรผู้นำ ‘เงินติดล้อ’

คน&สังคมแฮบปี้ ธุรกิจยั่งยืน สูตรผู้นำ ‘เงินติดล้อ’

“ทรานส์ฟอร์มเมชั่นและเชนจ์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว แต่มันออนโกอิ้ง องค์กรจึงต้องมีการปรับและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถ้าทำได้องค์กรก็จะเติบโตไปได้เรื่อยๆ”

“ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด บอกว่า เวลานี้ดิจิทัลดิสรัปทุกอุตสาหกรรม งานทุกๆฟังก์ชั่น แต่สิ่งสำคัญก็คือการพัฒนาความรู้และทักษะดิจิทัลให้กับพนักงาน เพราะจะช่วยสร้างขีดความสามารถให้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี


"เราให้พนักงานทุก ๆฟังก์ชั่นลุกขึ้นมาเขียนโปรแกรมให้เป็น รวมถึงวิเคราะห์ดาต้า พนักงานเราต้องทำความเข้าใจภาษาของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เราจะลงทุนไปกับเรื่องเหล่านี้ เราสร้างองค์กรเผื่อความเสี่ยงในการถูกดิสรัป ออโตเมทและนำเอาดาต้ามาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ ถามว่าทำไมเงินติดล้อมีลูกค้าต่อสาขามากกว่าคู่แข่งถึง 5 เท่า ก็เพราะเราเอาดาต้ามาใช้ประโยชน์ เราใช้ดาต้าเป็น แม้มีสาขาน้อยกว่าหลายเท่าแต่เราก็สู้ได้ "


แต่ที่สุดแล้วเขามองว่า “ทุกๆบิสิเนส ก็คือพีเพิลบิสิเนส ถ้าเราเข้าใจจุดนี้ และสร้างธุรกิจบนความเข้าใจนี้ เราก็จะได้ทั้งความยั่งยืน ได้ทั้งโพรฟิท และได้พนักงานที่แฮบปี้ทุ่มเทกับการทำงาน”


และในเมื่อทุกธุรกิจว่าด้วยคน แน่นอนความท้าทายย่อมหนีไม่พ้นคนภายในองค์กร เพราะคนเปลี่ยนแปลงยาก จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำ ที่ต้องรับหน้าที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคน ต้องทำให้คนทำในสิ่งโดยปกติแล้วเขาอาจไม่อยากทำ


"ย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีก่อน เราฉุกคิดและตั้งคำถามกับตัวเองว่า เงินติดล้อแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร ทำไมลูกค้าต้องเลือกเรา เพราะทางเลือกของเขามีตั้งเยอะแยะ ตอนนั้นเราเซอร์เวย์พนักงานของเราและมีคำตอบหนึ่งบอกว่าเพราะเราเป็นลูกของแบงก์กรุงศรี ซึ่งก็คงไม่ใช่ บังเอิญหนังสือชื่อสตาร์ทวิธวายเริ่มดัง เราเลยทำเวิร์คชอบและคุยกันเองภายในองค์กรว่าเพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างคืออะไร เรากำลังอยู่ในธุรกิจอะไร"


และสรุปออกมาว่า เงินติดล้ออยู่ในธุรกิจสินเชื่อที่ต้องการสร้างความสมดุลระหว่างผลกำไรกับการสร้างประโยชน์คืนกลับให้สังคม โดยให้ความสำคัญกับการสร้างและรักษาโอกาสให้กับผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้าที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน


"เรามีความเชื่อว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่โปร่งใส ที่แฟร์ ที่อยู่ในระบบถือเป็นสิทธิ์ของคนทุกคน และบทบาทของเงินติดล้อก็คือทำให้ทุกคนได้รับโอกาสนั้น คำว่าโอกาสเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรามาก ทุกวันนี้เราก็ยังเป็นเจ้าเดียวในธุรกิจนี้ที่ส่งข้อมูลลูกค้าเข้าเครดิตบูโร ช่วยลูกค้าสร้างประวัติ ถ้าเขามีประวัติที่ดี ในอนาคตเขาก็จะสามารถไปหาสินเชื่อที่ดอกเบี้ยถูกลงในวงเงินที่สูงขึ้นได้ และเราก็มีโครงการไฟแนนซ์เชียลเอดดูเคชั่นสอนคนให้มีความรู้ด้านการเงิน"


ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้หลายคนอาจจะสะดุ้งและสะดุดตากับหนังสือที่ชื่อว่า “ 25 วิธีคิดให้ชีวิตชิบหาย” ที่วางขายบนแผงหนังสือ ต้องบอกว่านี่เป็นแคมเปญของเงินติดล้อ ที่มาพร้อมกับความ “หวังดี” อยากให้คนไทยฉุกคิดถึงเรื่องพฤติกรรมการใช้เงิน และใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้าง “แรง”


"เพราะถ้าอยากเปลี่ยนพฤติกรรมคน เราก็ต้องหามุมในการคุยที่จะต้องกระแทกใจกันบ้าง แต่ก็มีคนถามว่ามันดูขัดแย้งนะเพราะเราเป็นธุรกิจปล่อยสินเชื่อ แต่ทำไมถึงบอกห้ามคนอย่าเป็นหนี้ เราก็บอกว่าจุดยืนเรามันชัด เราไม่ต้องการให้คนเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็น แต่ก็เข้าใจว่าในบางจังหวะของชีวิตคน อาจขัดสน ไม่มีเงินออม ไม่มีที่พึ่ง แต่เราไม่ต้องการให้ใครมากู้เงินจากเงินติดล้อเพื่อไปซื้อมือถือใหม่ หรือไปซื้อของที่ฟุ่มเฟือย นี่คือจุดยืนและเป็นโจทย์ที่เราอยากจะสื่อสาร"


แต่การจะบรรลุเป้าหมายต้องเริ่มจากคนภายในองค์กร ว่าด้วย “ค่านิยม” กรอบแนวทางในการปฏิบัติตัวปฏิบัติงานของพนักงาน


"เดิมทีเราใช้ค่านิยมเดียวกับธนาคารกรุงศรี แต่ได้โละทิ้งไปเพราะมันไม่ฟิตกับเรา จากนั้นก็พยายามหาค่านิยมของเงินติดล้อโดยการเฝ้าสังเกตุและวิเคราะห์ว่าอะไรที่ทำให้เราประสบความสำเร็จตลอดระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา สุดท้ายตกผลึกเป็นค่านิยม 7 ข้อ ที่ไม่ได้เป็นแค่เฮดไลน์สั้นๆ แต่พนักงานต้องอ่านทั้งพารากราฟ เพื่อให้เข้าใจตรงกันชนิดที่ไม่ต้องตีความ ไม่ต้องแปล"


ค่านิยมของเงินติดล้อทั้ง 7 ข้อประกอบด้วย 1.สร้างสรรค์ แบ่งปันโอกาส สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน 2.รู้สำนึกและมีจิตวิญญาณความเป็นเจ้าของ 3.ร่วมมือร่วมใจ ตรงไปตรงมา เพื่อความสำเร็จของทีม 4.ทำทุกอย่างด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ และเป็นกันเอง 5.กระหายการเรียนรู้และไม่หยุดพัฒนาตนเอง 6.กล้าทดลองในสิ่งใหม่ พร้อมก้าวไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และ7.ทำงานให้เต็มที่ ปาร์ตี้ให้สุด


ปิยะศักดิ์บอกว่า เงินติดล้อจะมีการเบนมาร์กกับองค์กรที่ทำได้ดีที่สุดในโลก ถ้าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรระดับโลก “Zappos” ขึ้นชื่อว่าเป็นเบสท์แพรคทิสที่เป็นสุดยอด


"เงินติดล้อก็ได้ไปเรียนรู้จากเขา การไปเรียนรู้จากองค์กรที่เป็นเลิศ มันเมคเซนส์ตรงที่เราไม่ต้องไปคิดเอง ทำไมเราต้องเริ่มคิดเองทุกเรื่องขณะที่มีคนที่คิดได้แตกฉานแล้ว การได้เรียนรู้จากเขาจะทำให้เราก้าวได้เร็วขึ้น"


แต่การเรียนรู้ไม่ได้หมายถึงการ “ก้อบปี้” เห็นว่าเขาทำได้ดีก็ยกเอากระบวนการ วิธีการทุกอย่างมาใช้ทั้งหมด แต่ระหว่างทางจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าเพราะอะไรเขาจึงคิดแบบนี้ และดัดแปลงให้เหมาะกับบริบทขององค์กรของตัวเอง


"สุดท้ายกลับมาแบ็คทูเบสิค วิธีการหาค่านิยมของเราก็คือ ให้ผู้บริหารระดับท้อบของเราทั้งหมด 50 คน ตั้งคำถามและหลับตานึกถึงลูกน้องที่ไว้ใจ อะไรคือคุณสมบัติของคนที่เราไว้ใจ ทำไมเราจึงไว้ใจเขา ซึ่งจะมีด้วยกัน 3 เรื่อง คือหนึ่ง คนที่มีเป้าหมายเดียวกับเรา สอง ธรรมชาติเราจะไว้ใจคนที่เก่งมีความเชี่ยวชาญมากกว่าและ สาม เราจะไว้ใจคนในจังหวะที่เราไม่อยู่แล้วเขาต้องตัดสินใจแทนเรา ด้วยหลักการเดียวกับเรา ในอีกมุมหนึ่งก็คือเราไว้ใจคนที่มีค่านิยมคล้ายกับเรา"


ทุกอย่างต้องวัดผลได้ โดยการสอบถามที่มีกว่า 5 พันคนว่ามีความสุขกับการเป็นชาวเงินติดล้อหรือไม่ อย่างไร


“เราเพิ่งทำเซอร์เวย์ถามพนักงานไปเมื่อต้นปี คำตอบได้ก็คือ มีกว่า 80 % ที่เห็นว่าบริษัทเราดูแลพนักงานดี 92% เชื่อมั่นกับภาพความเป็นผู้นำของเราในธุรกิจสินเชื่อ 97% เชื่อว่าบริษัทจะช่วยชีวิตลูกค้าให้หมุนต่อได้จริงๆ และมีถึง 99% ที่ภูมิใจกับการเป็นพนักงานของเงินติดล้อ”


อะไรคือคีย์ซัคเซส เขาบอกว่าในงานวิจัยชี้ว่ามีอยู่ 4 เรื่องที่ทำให้คนมีความสุขในการทำงาน และเงินติดล้อเองก็พยายามสร้างบรรยากาศให้ครบหนึ่ง คนจะมีความสุขกับการทำงานถ้าเขามีส่วนร่วมกับอุดมการณ์ที่ใหญ่กว่าสิ่งที่ทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็คือการช่วยเหลือคนในสังคมซึ่งเป็นมิชั่นของเงินติดล้อ สอง ความเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงาน สาม ความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ สร้างบรรยากาศออฟฟิศให้เป็นเหมือนบ้านและพนักงานมีบทบาทในการสร้างสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง และสี่ ความสัมพันธ์ที่อบอุ่นใกล้ชิด มีความร่วมมือ


"เราไม่เคยพอใจว่าที่ทำดีแล้ว เพราะทุกอย่างก็มีรูมสำหรับอิมพรูฟเมนท์ให้ทำดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นเรื่องค่านิยม ที่เราก็อยากไปให้ถึงการให้ค่านิยมเป็นตัวคัดกรองคนและไล่คนออกในเวลาเดียวกัน”