'ผู้ตรวจการฯ' มติเอกฉันท์ส่งศาลรธน.วินิจฉัย ปม 'พ.ร.บ.คำสั่งเรียก' ขัดรธน.หรือไม่
ด่วน! "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ปม “พรบ.คำสั่งเรียก” ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
เมื่อวันที่ 15 พ.ย.62 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องร้องเรียน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาวินิจฉัยเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณี พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 129
ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยร่วมกันแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 เป็นกฎหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 135 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภามีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำ หรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาอยู่นั้นได้ และเพื่อให้คำสั่งเรียกดังกล่าวมีผลบังคับตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติไว้ในมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก็ได้กำหนดกลไกการดำเนินกิจการของทั้งสองสภาไว้ในมาตรา 129 โดยบัญญัติไว้ว่า ให้คณะกรรมาธิการทั้งสองสภามีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้น และได้บัญญัติวิธีการบังคับไว้เป็นการเฉพาะซึ่งเป็นมาตรการเชิงบังคับเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภาต้องการในวรรคห้าของมาตรา 129 ว่าให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในกิจการที่คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษา ที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกำกับให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภาเรียก เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ให้คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภากระทำกิจการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของทั้งสองสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 129 จึงไม่ได้บัญญัติให้มีกฎหมายบังคับการเรียกและมิได้มุ่งเน้นที่จะลงโทษทางอาญาต่อบุคคลผู้ถูกเรียก กล่าวคือคณะกรรมาธิการมีอำนาจเพียง “เรียก” มิได้ให้อำนาจในการ “ออกคำสั่งเรียก” ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีความเห็นว่าพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 129
จึงอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติในมาตรา 231(1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 23(1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นดังกล่าวข้างต้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไปในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562