ถอดรหัสความหมาย ‘เอ็มโอยู’
คำว่า “เอ็มโอยู” (MOU) กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ขณะนี้ แต่แท้จริงแล้ว เอ็มโอยูมีความหมายว่าอะไร และลงนามฝ่ายเดียวได้หรือไม่?
บันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู มาจากคำว่า Memorandum of Understanding เป็นข้อตกลงระหว่าง 2 ฝ่ายหรือมากกว่านั้น โดยมีการสรุปเนื้อหาในรูปแบบเอกสารเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม เอ็มโอยูไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่เป็นการส่งสัญญาณถึงความยินยอมพร้อมใจของฝ่ายที่ลงนาม เพื่อเตรียมเดินหน้าสู่การทำสัญญาระหว่างกัน
หลายฝ่ายอาจมองว่า เอ็มโอยูเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเจรจาตามที่กำหนดขอบเขตและจุดประสงค์ของการพูดคุยกัน ข้อตกลงลักษณะนี้ส่วนใหญ่ถูกใช้ในการเจรจาสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่ก็อาจใช้ในการทำข้อตกลงธุรกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น การเจรจาควบรวมกิจการ ด้วยเช่นกัน
เอ็มโอยูมีหน้าที่อย่างไร
เอ็มโอยูเป็นการแสดงเจตจำนงที่จะทำข้อตกลง และบ่งชี้ว่าฝ่ายที่ลงนามมีความเข้าใจตรงกันและจะเดินหน้าข้อตกลงนี้ แม้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ถือเป็นคำประกาศอย่างจริงจังว่าจะมีการทำสัญญาในเร็ว ๆ นี้
ยกตัวอย่างกฎหมายของสหรัฐ เอ็มโอยูเป็นเหมือนกับหนังสือแสดงความจำนง แต่จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องยากที่จะแยกความแตกต่างระหว่างเอ็มโอยู บันทึกข้อตกลง (เอ็มโอเอ) หรือหนังสือแสดงความจำนง แต่ที่แตกต่างชัดเจนคือ เอ็มโอเอมีผลผูกพันทางกฎหมาย เอกสารทั้งหมดนี้ล้วนสื่อถึงข้อตกลงเกี่ยวกับเป้าหมายเรื่องผลประโยชน์ระหว่างกันและความประสงค์ที่จะทำให้ข้อตกลงนี้มีผลสมบูรณ์
นอกจากนี้ เอ็มโอยูยังหมายถึงความคาดหวังที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันของบุคคล องค์กร หรือรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง
ส่วนใหญ่นั้น เอ็มโอยูมักถูกใช้ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะสามารถทำขึ้นได้อย่างรวดเร็วและเป็นความลับ หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐหลายแห่งนิยมใช้เอ็มโอยูเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงระหว่างวางแผนทำสัญญาสำคัญ ๆ
เนื้อหาของเอ็มโอยู
เอ็มโอยูจะสรุปประเด็นเฉพาะเจาะจงของความเข้าใจร่วมกันไว้อย่างชัดเจน โดยมีการระบุชื่อฝ่ายที่ทำเอ็มโอยู อธิบายโครงการที่มีการตกลงกัน กำหนดขอบเขต และรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย
ในการทำเอ็มโอยู ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีความเข้าใจตรงกัน และระหว่างนั้น แต่ละฝ่ายต้องรับทราบว่าสิ่งใดมีความสำคัญที่สุดสำหรับอีกฝ่าย ก่อนจะเดินหน้าเพื่อทำสัญญาต่อไป
ขั้นตอนนี้มักเริ่มด้วยการที่แต่ละฝ่ายร่างเอ็มโอยูที่เป็นคุณกับฝ่ายตนมากที่สุด และพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ที่สุด สิ่งที่ฝ่ายตนเชื่อว่าจะต้องเสนอให้กับอีกฝ่าย และประเด็นใดสำหรับฝ่ายตนที่ไม่อาจต่อรองได้ ถึงตรงนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเจรจา
ข้อเสียเปรียบของเอ็มโอยู
ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับประโยชน์ของเอ็มโอยู ช่วงที่มีการเจรจาการค้ากับผู้แทนของรัฐบาลจีนในกรุงวอชิงตัน เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ถูกผู้สื่อข่าวถามว่าเขาคาดหวังให้เอ็มโอยูระหว่างสหรัฐกับจีนมีผลนานเพียงใด
“ผมไม่ชอบเอ็มโอยู เพราะมันไม่มีความหมายอะไรเลย” ทรัมป์ตอบ
หลังจากมีการหารือกันระดับหนึ่ง รัฐบาลสหรัฐก็ตัดสินใจว่า เอกสารใด ๆ ก็ตามที่มาจากการเจรจาดังกล่าวจะถูกเรียกว่า “ข้อตกลงการค้า” ไม่ใช่เอ็มโอยู