'การศึกษาไทย' ไร้ขีดจำกัด สร้าง 'มืออาชีพ' ด้วยมืออาชีพ
โลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาททุกด้านในชีวิตประจำวัน ทำให้เทรนด์ในการจ้างงาน ความต้องการคนในแต่ละอาชีพเปลี่ยนไปจากเดิม
นอกจากมีองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพที่ตนเองจบแล้ว ยังต้องการคนที่ทักษะภาษาอังกฤษ เข้าใจเทคโนโลยี และพร้อมปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา
ปี 2563 หรือปี 2020 การก้าวสู่ทศวรรษหนึ่งของการศึกษาไทย “ซีพี ออลล์” จัดงาน ซีพีออลล์ กับยุทธศาสตร์การศึกษาไทย 2562 หรือ CP All Education 2020 เชิญกูรูแวดวงการศึกษา เทคโนโลยี และบันเทิง มาร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ องค์ความรู้ ร่วมสนับสนุนการศึกษา พัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศให้มีศักยภาพ
โดยมี "ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “อนาคตการศึกษาไทย ปี 2020” ว่า ทำไม? บริษัทอย่าง ซีพี ออลล์ หรือบริษัทในเครือ หลายธุรกิจ ถึงไปขยายตัวในประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศอื่นๆ นั่นเพราะไม่มีความมั่นใจว่ามีแรงงานทักษะฝีมือที่ตอบสนองในตลาดที่บริษัทต่างๆ ต้องการ
ดังนั้น เป็นเรื่องที่ศธ.ต้องปรับในการพัฒนาคน มุ่งฉีดยาแรงอาชีวะ เพราะจะเป็นกำลังหลักของประเทศในตอนนี้และอนาคต หรืองดดูงานต่างประเทศ ซึ่งไปดูมาแล้วแต่ไม่ได้นำมาใช้ หรือนำมาใช้อย่างไม่เต็มที่ เอางบประมาณเหล่านั้นมาลงทุนด้านดิจิตอล ในปี 2563 โรงเรียน 95% ต้องมีอินเทอร์เน็ตใช้ เป็นต้น
“อนาคตการศึกษาไทยที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาครูให้สามารถสอนเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ รวมถึงครูที่มีทักษะภาษาอังกฤษ หลังจากนี้ จะมีการพัฒนาครูให้มีความรู้ภาษาอังกฤษ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI ) และมีความรู้ในวิชาที่ตนเองสอน เพราะเมื่อครูเก่ง เด็กก็จะมีความสามารถ เพื่อเข้าสู่ระดับที่สูงขึ้น เป็นวงจรแห่งการเรียนรู้ เราจะตอบโจทย์โอกาสของประเทศไทยได้แน่นอน”รมว.ศธ. กล่าว
อย่างไรก็ตาม การศึกษาอย่างเดียว ความรู้อย่างเดียว ไม่พอ วันนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาต้องปลูกจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบต่อผู้อื่น ต่อสังคม ประวัติศาสตร์ของไทย ความเป็นพลเมืองดี มีศีลธรรม ต้องต่อยอดเรื่องเหล่านี้
ศธ.จะผลักดันหลักสูตรเหล่านี้ในกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าสถาบันการศึกษาใดมีเรื่องความเป็นไทย ศักยภาพของไทย เป็นเรื่องสำคัญ เพราะโอกาสของไทยมีและแตกต่างจากประเทศอื่นๆนโยบายของศธ.สอดคล้องกับบริษัทเอกชน ที่ร่วมพัฒนาการศึกษา และประเทศไทย
ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่าหลักการจัดการศึกษาของปัญญาภิวัฒน์ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ,ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี ต้องทำให้เด็ก สามารถทำงานในโลกของความจริงได้ ฝึกงาน 3 เดือน เรียน 3 เดือนสลับกันไป เด็กทุกคนหากได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฎิบัติด้วยกัน จะทำให้เขาเป็นคนเก่งได้
“เราจัดการศึกษาโดยนำปฎิบัติผสมผสานกับทฤษฎี เด็กถูกฝึกโดยสถานที่ทำงาน ทำให้เด็กมีวินัย มีองค์ความรู้ที่ทันสมัย และทำงานได้จริง เพราะการฝึกงานในสถานประกอบการ ซึ่งมีการแข่งขันตลอดเวลา จำเป็นต้องมีความรู้นำสมัยเพื่อมาพัฒนาองค์กร และเด็กไปฝึกงานจะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้”ก่อศักดิ์ กล่าว
การทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยจะกลายเป็นแนวทางของเด็กทุกคน เพราะหลักสูตร หรือทฤษฎีล้วนเกิดจากการลงมือปฎิบัติก่อน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้มีแนวทางในการเรียนรู้ หรือทำงานต่างๆ ดังนั้น หลักสูตรจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ทำให้เข้าใจทฤษฎีและนำไปใช้ในการทำงานได้โดยต้องไม่เสียเวลามาก
ชานน สันตินธรกุล นักแสดงหนุ่มจากภาพยนตร์เรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” กล่าวว่าการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ และการใช้ชีวิตประจำวันก็เหมือนการเรียนรู้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นหลักสูตรตายตัวที่ทุกคนต้องเรียนรู้
ซึ่งการเรียนรู้ของตนเอง เช่น การฝึกภาษาอังกฤษ เราอาจจะโพสไอจี แต่ใช้แคปชั่นเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ต้องรู้ภาษาอังกฤษ หรือ ตอนนี้มีเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะช่วยให้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพียงแต่ต้องรู้จักแบ่งเวลาเรียน ฟังและพูดตามก็จะทำให้ค้นหาคำศัพท์ต่างๆ สามารถฟัง พูด และอ่านได้ เป็นต้น
"รูปแบบการสอนที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ต้องเป็นการเรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์จริง และได้ลงมือปฎิบัติจริง เรียนจากเทคโนโลยี โซเซียลมีเดียและถ้าวันไหนเจอสิ่งที่ตัวเองชอบ หรือได้ทำ ขอให้ทำให้เต็มที่ ให้เป็นที่หนึ่งและถ้าล้มเหลวอย่าท้อหรือหมดหวัง เพราะนั่นเป็นการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง"ชานน กล่าว
การเรียนปริญญาตรีในอดีตต้องเป็นคนที่มีฐานะดีถึงจะเรียนได้ แต่ปัจจุบันมีโอกาสและทุนการศึกษามากมายให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้เรียนในระดับปริญญาตรีได้อย่างมีความสุข
กนกวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ นักศึกษาที่ได้รับทุนจากซีพี ออลล์ กล่าวว่าการเรียนในสถาบันปัญญาภิวัฒน์ที่มีการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ซึ่งในการเรียนทั้งทฤษฎีและปฎิบัติ จะทำให้ได้เรียนรู้โลกของการทำงานจริง ได้เห็นคุณค่าของเงิน และเป็นสิ่งที่ห้องเรียนสอนไม่ได้ เป็นการเรียนที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่
ทั้งนี้การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กในอนาคต จะต้องเป็นแพลตฟอร์มการเรียนจากมืออาชีพ กูรูที่มีประสบการณ์ในด้านนั้นๆ ครูต้องเข้าถึงง่าย เฟรนลี่กับเด็ก ให้เด็กรู้สึกคุ้นเคย ไว้ใจ เป็นกันเอง และต้องเรียนรู้จากห้องเรียนที่ทันสมัย เทคโนโลยี เนื่องจากการเรียนในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้เริ่มต้น แต่เป็นการเรียนเพื่อต่อยอดตนเอง โดยทุกคนต้องรู้จักตนเอง
มนัส อ่อนสังข์ บรรณาธิการข่าวการศึกษาและแอดมิชชั่น เว็บไซต์Dek-D.com กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่อ่านน้อย อยากให้ปรับสื่อการสอน เช่น ทำอินโฟกราฟฟิค สรุปเนื้อหา ใส่สีสัน หาจุดเด่นให้เข้าถึงเด็กได้ รวมถึงควรใช้สื่อโซเซียลมีเดีย อย่าง ทวิสเตอร์ ซึ่งมีเด็กเล่นเยอะมาก เพราะเด็กจะไม่ถูกขาดหวังจากผู้ใหญ่ ทวิสเตอร์มีความอิสระและโพสเพียงสั้นๆ ให้เด็กเข้าใจง่าย เด็กจะชื่นชอบ อีกทั้งเด็กชอบเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ เป็นต้น