"ศักดิ์สยาม" สั่งเช็คฐานะการเงินแอร์ไลน์

"ศักดิ์สยาม" สั่งเช็คฐานะการเงินแอร์ไลน์

“ศักดิ์สยาม” สั่ง กพท.เช็คฐานะทางการเงินทุกสายการบิน หวั่นธุรกิจแย่ กระทบบริการผู้โดยสาร ลั่นหากไม่ปรับให้ได้มาตรฐาน จ่อเลิกใบอนุญาต ด้าน กพท.เร่งศึกษาโครงสร้างราคา บี้ต้นทุนที่แท้จริง จับผิดแอร์ไลน์อัดโปรโมชั่นหนีตาย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) วันนี้ (6 ธ.ค.) โดยระบุว่า ตนได้สั่งการให้นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ตรวจสอบสถานะทางการเงินของทุกสายการบินที่ได้รับใบอนุญาตการเดินอากาศ หากเล็งเห็นว่าสายการบินใดมีฐานะทางการเงินที่น่าเป็นห่วง ให้เพิ่มความถี่เข้าไปตรวจสอบ และตรวจเข้มให้ปรับปรุงธุรกิจให้อยู่ในคุณสมบัติที่กำหนด หากไม่สามารถดำเนินการ ก็มีความจำเป็นต้องยกเลิกใบอนุญาต

“เรื่องนี้ผมได้สั่งการให้เร่งดำเนินการทันที เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายกับผู้โดยสาร ถ้าพบว่าสายการบินใดปรับตัวให้เป็นไปตามข้อกำหนดไม่ได้ ถ้าจะต้องยกเลิกใบอนุญาตก็ต้องทำ เลิกไปก่อนเพื่อหยุดความเสียหาย”

157563345785

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท.ระบุว่า ปัจจุบันก็พบว่ามีหลายสายการบินที่เข้าข่ายต้องจับตาดูฐานะทางการเงิน ซึ่งประเด็นที่ กพท.จะตรวจสอบ คือการดูภาพรวมธุรกิจ ดูในส่วนของเกณฑ์ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นอย่างไร และผลประกอบการที่ผ่านมาขาดทุนขนาดไหน หากเรียกมาเจรจาแล้วพบว่าไม่ได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ก็จะต้องเลิกใบอนุญาตไปก่อน

157563354428

รายงานข่าวจาก กพท.ระบุว่า สายการบินที่ กพท.อยู่ระหว่างจับตาดูฐานะทางการเงิน ส่วนใหญ่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอส์ต) เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าธุรกิจเริ่มขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการจัดทำโปรโมชั่นลดราคาบัตรโดยสารไม่ใช่เพียงช่วงเวลา แต่เริ่มจัดทำถี่ขึ้น หรือบางสายการบินมีโปรโมชั่นราคาถูกตลอดทั้งปี ซึ่งการปรับตัวทางธุรกิจเช่นนี้ เป็นสัญญาณให้เห็นว่าสายการบินกำลังสู้การแข่งขันด้านราคา หากลดราคาต่ำกว่าทุนอย่างต่อเนื่อง ต้องมีสาเหตุที่ทำให้ยอมขาดทุน

“ตอนนี้ กพท.เรากำลังศึกษาโครงสร้างราคาของสายการบินให้ชัดเจน โดยจะต้องดูอย่างละเอียดว่าแต่ละสายการบิน แต่ละเส้นทางบินนั้น ต้นทุนที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะถ้าทราบต้นทุนแต่ละที่นั่งแล้ว ก็จะประเมินได้ว่า การที่สายการบินทำโปรโมชั่นลดราคา ยอมขาดทุนมากมายขนาดนี้ และลดต่อเนื่องทั้งปี ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นตลาดแล้ว แต่อาจจะมีเหตุผลบางประการที่ทำให้ต้องยอมขาดทุน ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่ต้องทำให้ธุรกิจอยู่รอด หรือเข้าข่ายทุ่มตลาด”