กกพ.ศึกษาอัตราชาร์จอีวี หวังสอดคล้องการใช้จริง
กบง.มอบ กกพ. ศึกษาปรับอัตราค่าบริการชาร์จไฟฟ้ารถอีวี ให้สอดรับตามความต้องการใช้จริง หลังผู้ประกอบเรียกร้องไม่คุ้มทุน .
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลาขาธิการสำนักงานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2562 ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เดินหน้าศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station )ของยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) หลังจากปัจจุบันได้ใช้อัตราชั่วคราวมาหลายปีแล้ว และผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้เรียกร้องให้ภาครัฐมีการคำนวณอัตราใหม่ที่เหมาะสม เนื่องจากการเข้ามาใช้บริการของรถอีวีต่อสถานีชาร์จมีน้อยมาก ทำให้ไม่คุ้มค่า
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาปรับอัตราบริการชาร์จไฟฟ้าให้สูงขึ้น เพื่อจูงใจให้เกิดคุ้มค่าต่อการลงทุนและเดินหน้าขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป
“ที่ผ่านมาอัตราชาร์จไฟฟ้าเป็น TOU ที่มีการคำนวณตามดีมานด์ชาร์จ แต่ของจริงจำนวนรถอีวีที่เข้าไปใช้บริการต่อสถานีชาร์จยังมีน้อยมาก ผู้ประกอบการจึงอยากให้รัฐคำนวณอัตราใหม่ เช่น อาจเป็นอัตราที่ไม่คิดตามดีมานด์ชาร์จ หรือสูงกว่าอัตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้น กกพ.จะรีบศึกษาอัตราชาร์จไฟฟ้าที่เหมาะสม เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงพลังงาน และเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)พิจารณาต่อไป”
ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราชาร์จไฟฟ้า ยังคงใช้ตามอัตราที่ได้รับความเห็นชอบจาก กพช. โดยคำนวณตามช่วงเวลาการใช้ (Time of Use Rate : TOU) แบ่งเป็นการชาร์จไฟฟ้าช่วงที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak) ระหว่างเวลา 9.00-22.00 น. คิดค่าไฟฟ้าอัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย ส่วนค่าไฟฟ้าที่ไม่ใช่ช่วง Peak (Off-Peak) ซึ่งเป็นหลังเวลา 22.00 น. ไปแล้ว และวันเสาร์-อาทิตย์ อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.60 บาทต่อหน่วย เพื่อต้องการส่งเสริมให้รถอีวี ชาร์จแบตเตอร์รี่ในช่วงกลางคืน จะได้ไม่ทำให้ Peak ไฟฟ้าในช่วงกลางวันเพิ่มขึ้น
นายคมกฤช กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กบง. ยังเห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(SCOD) กรณีนอกเหนือจากเหตุสุดวิสัย ปริมาณเกือบ 300 เมกะวัตต์ตามที่ กกพ.นำเสนอ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าของโครงการต่างๆที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ผูกพันกับภาครัฐแล้ว สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580(PDP 2018)
โดยส่วนใหญ่พบว่า เป็นโครงการที่ก่อสร้างเสร็จไป 80-90% แต่จะเสร็จไม่ทันกำหนด SCOD ระหว่างปี 2562-2564 เนื่องจากเกิดเหตุสุดวิสัยทำให้เกิดความล่าช้า เช่น การทำความเข้าใจกับชุมชน และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และหากผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบไม่ทันตามสัญญาจะถูกยกเลิกสัญญาด้วย
ดังนั้น กกพ.จึงเสนอต่อ กบง. ขอผ่อนผันระยะเวลา SCOD ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณีตามความเหมาะสม และจะต้องนำเสนอขอการอนุมัติจากที่ประชุม กพช.ในวันที่ 16 ธ.ค. 2562 อีกครั้งจึงจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนต่อไป
สำหรับโรงไฟฟ้าที่ขอเลื่อน SCOD ทั้งหมดมี 14 ราย แบ่งเป็น โครงการ VSPP (ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ) ประเภทขยะอุตสาหกรรม 2 ราย กำหนดเดิมภายใน 31 ธ.ค. 2562 แต่ขอเลื่อนเป็น มี.ค.และธ.ค. 2563 ตามลำดับ ,โครงการ VSPP ประเภทขยะชุมชน 1 ราย กำหนด SCOD 31 ธ.ค. 2564 ของเลื่อนเป็น ธ.ค. 2565
และโครงการ SPP Hybrid Firm (ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กแบบเชื้อเพลิงผสมผสานที่ต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบแบบเสถียร) จำนวน 11 ราย รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 284 เมกะวัตต์ โดยกลุ่มนี้ต้องลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ภายใน 13 ธ.ค.2562 แต่ของเลื่อน PPA เป็นปี 2563 และเลื่อนกำหนด SCOD จากปี2563-2564 เป็นปี 2564-2565 แต่บางรายขอเลื่อนแบบยังไม่ระบุเวลา