'อี-มันนี' อาเซียนคึกคัก รับฤดูจับจ่ายปลายปี

'อี-มันนี' อาเซียนคึกคัก รับฤดูจับจ่ายปลายปี

เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลจับจ่ายซื้อหาของฝากของขวัญของเหล่าขาช้อปและเป็นโอกาสทำเงินของห้างร้านต่างๆ ที่งัดสารพัดกลยุทธ์เพื่อดึงดูดเงินในกระเป๋าผู้บริโภค ที่ในยุคนี้อาจไม่ใช่เงินสดแต่เป็นการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกและรวดเร็ว

ธุรกิจบริการทางการเงินผ่านแอพพลิเคชันต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะนี้ ลูกค้าธนาคารในภูมิภาคจำนวนมากเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมการเงินไปทำบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟน และใช้แอพฯทำทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่ซื้อของกินของใช้ที่จำเป็น ส่งเงินกลับบ้าน ไปจนถึงลงทุนด้านต่างๆ และพูดได้ว่าบอกลาการขอยื่นเอกสารเป็นปึกๆเพื่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้เลย เพราะทุกวันนี้ สามารถยื่นกู้ผ่านมือถือและได้รับคำตอบเกือบจะในทันที ทำให้การบริการทางการเงินในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาอย่างแท้จริง

ทุกวันนี้ หลายประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังเข้าไม่ถึงการบริการด้านธนาคาร กำลังข้ามขั้นจากการบริการของธนาคารรูปแบบเดิมไปเป็นการใช้บริการผ่านมือถือทำให้ยอดการทำธุรกรรมทางออนไลน์บนมือถือขยายตัวต่อเนื่อง และนับวันในสายตาคนยุคใหม่ การเดินเข้าไปใช้บริการทางการเงินในธนาคารที่ตั้งตามที่ต่างๆกำลังกลายเป็นสิ่งที่ “ล้าสมัย”

157585063984

“ผมนำเงิน 70% ของเงินเดือนฝากไว้ในบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ และการซื้อสินค้าและบริการส่วนใหญ่จ่ายด้วยระบบอี-มันนีจาก "โอโว" (OVO) บนสมาร์ทโฟน” บายู วิกาโซโน วิศวกรวัย 23 ปีในกรุงจาการ์ตา กล่าว

โอโวเป็นการบริการจ่ายเงินในอินโดนีเซียและนอกจากนั้น วิกาโซโน ยังใช้แอพฯโอโวกับการบริการเรียกรถรับจ้าง ซื้ออาหารและทำกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งส่งเงินให้แม่ของเขาและลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้วย

กระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ระบุว่า กระแสความนิยมทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในอินโดนีเซียขยายตัวมากที่สุดในโลก โดยอี-มันนีที่ว่านี้ครอบคลุมถึงบัตรอี-มันนีที่ออกมา 257 ล้านครั้งนับจนถึงปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากช่วงปลายปี 2559 เทียบกับธนาคารต่างๆ ที่ออกบัตรเอทีเอ็มรวมทั้งสิ้นประมาณ 170 ล้านใบ

บรรดาลูกค้าธนาคารในอินโดนีเซียต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหากต้องการทำบัตรเครดิตหรือรักษาบัญชีธนาคารเอาไว้ ต่างกันลิบลับกับการเปิดบัญชีในระบบอี-มันนี ที่แค่ดาวน์โหลดแอพฯบนสมาร์ทโฟนและลงทะเบียนด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ

เจสัน ธอมป์สัน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโอโว บอกว่า อินโดนีเซียตอนนี้ก็เหมือนจีนที่เพิ่งเริ่มใช้ระบบอี-มันนีเมื่อปี 2551 แต่เขาคิดว่าอินโดนีเซียจะก้าวตามจีนได้ภายใน 2-3 ปีนี้ เพราะอุตสาหกรรมฟินเทคในอินโดนีเซียขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วมาก ซึ่งในส่วนของบริษัทธอมป์สัน หลังจากเกิดให้บริการเมื่อปี 2560 มีผู้ใช้บริการจำนวน 100 ล้านคน

157585066073

โอโวประสบความสำเร็จในฐานะแพลตฟอร์มการชำระเงินชั้นนำของอินโดนีเซียที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในร้านค้าปลีกและซุ้มขายของ หรือแม้แต่ในการบริการทั้งแบบออนไลน์และออนดีมานด์ แอพฯโอโว มีเครือข่ายจุดเติมเงินนับล้านจุด ผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารมันดิรี ร้านสะดวกซื้ออัลฟามาร์ท และคนขับรถแกร็บทั่วประเทศ

ปัจจุบัน โอโวมีปริมาณการชำระเงินสูงสุดในบรรดาอี-วอลเลทของอินโดนีเซีย โดยมีซอฟต์แวร์ของแคชชีลด์คอยทำหน้าที่ผสานการทำงานได้อย่างลงตัว ทำให้ฐานข้อมูลผู้ใช้งานกว่า 60 ล้านคนใน 500 เมืองทั่วอินโดนีเซียของโอโวได้รับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ

ด้วยเทคโนโลยีการปกป้องข้อมูลผู้บริโภคแบบครบวงจรของแคชชีลด์ เนื่องจากการชำระเงินผ่านมือถือได้รับความนิยมมากขึ้นในปีที่ผ่านมาและกลายเป็นเป้าหมายในการแสวงหาผลประโยชน์ของเหล่าบรรดาอาชญากรทางไซเบอร์ ดังจะเห็นได้จากบัญชีที่โดนโจรกรรมซึ่งมีมูลค่ามากกว่าบัตรเครดิตที่ถูกโจรกรรมในตลาดมืดถึง 6 เท่า

แคชชีลด์ จึงได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรม ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนไหวของเคอร์เซอร์ รูปแบบการเลื่อนและตำแหน่งที่กด เพื่อหาค่าความเสี่ยงจากการฉ้อโกง โดยแคชชีลด์และโอโวร่วมกันคุ้มครองบัญชีผู้ใช้โอโวจากอาชญากรไซเบอร์ และปกป้องผู้ค้าโอโวจากการรับชำระเงินที่ผิดปกติจากบรรดานักต้มตุ๋น

ขณะที่ในไทย บริษัททรูมันนี บริษัทให้บริการอี-มันนีในเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ กรุ๊ป (ซีพี) ครองส่วนแบ่งตลาดการจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์รายใหญ่ในประเทศ ขณะที่ ซี (SEA) บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ ซึ่งเปิดเว็บไซต์ชอปปิงออนไลน์และธุรกิจอื่นๆ มีบริการจ่ายเงิน-โอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดอาเซียนชื่อ แอร์เพย์

เอสแอนด์พี โกลบอล บริษัทจัดอันดับชั้นนำของโลก ระบุว่า ธุรกิจอี-มันนี มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิม ขณะที่อัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคในภูมิภาคยังคงเพิ่มขึ้น และในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกว่า 90% ของประชากรมีบัญชีธนาคาร ส่วนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีสัดส่วนการถือครองบัญชีธนาคารในระดับต่ำกว่า ยกตัวอย่างในอินโดนีเซียมีไม่ถึง 50%

การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินกระตุ้นให้ธุรกิจอี-มันนีในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขยายตัวเร็วขึ้น โดยมีแอพฯบนสมาร์ทโฟนเป็นปากประตูเปิดไปสู่อนาคตของอุตสาหกรรมการเงินในเอเชียอย่างแท้จริง

การบริการทางการเงินบนสมาร์ทโฟนถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเงินข้ามพรมแดนด้วย ทั้งในสิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่บรรดาแรงงานอพยพจะต้องใช้บริการโอนเงินกลับประเทศ แต่เมื่อคนส่วนใหญ่เข้าถึงสมาร์ทโฟนได้ง่าย การโอนเงินผ่านแอพฯจึงเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้มากขึ้น ยกตัวอย่างกรณีการใช้แอพฯแดช ของสิงคโปร์ เทเลคอมมิวนิเคชัน ที่ให้บริการโอนเงินไปอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเมียนมาได้ทันที เมื่อเทียบกับการบริการโอนเงินในรูปแบบดั้งเดิมที่ใช้เวลาหลายวันกว่าเงินจะถูกส่งไปยังจุดหมายปลายทาง

157585067766

แม้แต่สมาคมเพื่อการสื่อสารทางการเงินระหว่างธนาคาร (สวิฟท์) ยังเตรียมเปิดใช้ระบบใหม่ที่จะช่วยให้สมาคมสามารถส่งเงินไปต่างประเทศได้ภายในเวลา 30 นาทีเมื่อเทียบกับบรรดาธนาคารอื่นๆที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ