บอร์ด รฟม.ไฟเขียวลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหลือ 14-20 บาท ตลอดวัน

บอร์ด รฟม.ไฟเขียวลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหลือ 14-20 บาท ตลอดวัน

บอร์ด รฟม.ไฟเขียวลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหลือ 14-20 บาทตลอดทั้งวัน รวม 3 เดือน สนองนโยบายลดค่าครองชีพ จ่อชง ครม.อนุมัติ 17 ธ.ค.นี้ ประเมินผู้โดยสารเพิ่ม17.8% รฟม.ไม่หวั่นสูญรายได้ 45 ล้านบาท พร้อมเร่งหารือ “บีอีเอ็ม” เตรียมคลอดตั๋วเที่ยวราคาพิเศษ


นายสราวุธ ทรงศิริวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยในฐานะประธานกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยระบุว่า ที่ประชุมบอร์ดวันนี้ (11 ธ.ค.) อนุมัติมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนนาคม ที่ต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนทุกวัน ตลอดทั้งวัน ไม่จำกัดเฉพาะช่วงเวลา เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนอย่างแท้จริง


โดย รฟม.จะจัดโปรโมชั่นลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ปรับค่าโดยสารจากอัตรา 14-42 บาทต่อเที่ยว เหลือ 14-20 บาทต่อเที่ยวทุกวัน ตลอดทั้งวัน เป็นเวลา 3 เดือนเต็ม จากเดิมจะลดค่าโดยสารเฉพาะช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off Peak) ในวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) ช่วงเวลา 09.00-17.00 น. และวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)


“มาตรการนี้คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้ในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะมีผลใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน โดยเบื้องต้นประเมินว่ามาตรการนี้ จะทำให้ รฟม. สูญเสียรายได้จากรถไฟฟ้าสายสีม่วงจำนวน 15 ล้านบาทต่อเดือน หรือรวมแล้วเท่ากับ 45 ล้านบาท”


อย่างไรก็ดี แม้ว่า รฟม.จะต้องสูญเสียรายได้ค่าโดยสาร แต่สามารถศึกษาผลลัพท์ที่จะได้กลับมา คิดกลับมาเป็นวงเงิน 38.7 ล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็น 1. การประหยัดค่าใช้จ่ายรถส่วนตัว 12.6 ล้านบาท, 2. การประหยัดเวลาเดินทาง 14.6 ล้านบาท, 3. การลดอุบัติเหตุ 5.7 แสนล้าน, 4.ค่าความสุขประชาชน 10.2 ล้านบาท และ 5.ค่าประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ 6.3 แสนบาท


นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้น 17.8% จาก 6 หมื่นคนต่อวันในปัจจุบัน ส่วนโปรโมชั่นตั๋วเที่ยวระหว่างรถไฟฟ้า สายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน รวมทั้งตั๋วรายเดือนในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือรายละเอียดร่วมกับเอกชนผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) คาดว่าจะมีความชัดเจนหลังเดือน มี.ค.2563