'กสิกรไทย'รุกขยายสาขาต่างประเทศ

'กสิกรไทย'รุกขยายสาขาต่างประเทศ

"กสิกรไทย" เดินหน้าขยายสาขาต่างประเทศ ชี้ปีหน้าลุ้นไลเซ่นส์เปิดขาใหม่อย่างน้อย1แห่ง จาก 3ประเทศที่ขอใบอนุญาตไปแล้ว "เวียดนาม- อินโดฯ- เมียนมา"  พร้อมดันแบงก์กสิกรในจีน รุกดิจิทัล หวังชิงส่วนแบ่งการตลาดในจีน  

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในจุดที่ธนาคารไม่มีสาขา เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต  ล่าสุด ธนาคารอยู่ระหว่างขอใบอนุญาต(ไลเซ่นส์)เพื่อเปิดสาขาในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา คาดหวังว่าจะได้รับการอนุมัติไลเซ่นส์เปิดสาขาอย่างน้อยหนึ่ง 1แห่งในปีหน้า  

การเปิดสาขาต่างประเทศ เป็นกลยุทธ์สร้างการเติบโตของธนาคาร รองรับการเติบโตของสินเชื่อในอนาคต และใช้สาขาเป็นตัวต่อยอดเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าผ่านดิจิทัลแบงกิ้ง เพราะหากธนาคารไม่มีสาขา การต่อยอดไปดิจิทัลจะทำได้ยาก

“เราพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายธุรกิจในต่างประเทศ  อย่างน้อยเราต้องมีสาขาก่อน หลังจากนั้นค่อยใช้กลยุทธ์อื่นๆเข้าไปจับลูกค้าได้ เช่น เจาะกลุ่มลูกค้าผ่านดิจิทัล  หวังว่าปีหน้าจะได้ไลเซ่นส์อย่างน้อย 1ประเทศ โดยมีโอกาสมากสุดในอินโดฯ กับเวียนาม  ขณะเดียวกันยังมองถึงการขยายธุรกิจผ่านการร่วมมือกับสตาร์ทอัพที่เก่งๆในประเทศเหล่านี้ด้วย ”

สำหรับการทำธุรกิจในจีน จะเห็นการปรับกลยุทธ์ของธนาคาร ไปทำธุรกิจใหม่ๆมากขึ้น เช่นการเข้าไปทำธุรกิจผ่านดิจิทัล จากเดิมที่ธุรกิจหลักของธนาคารเน้นเจาะฐานลูกค้าธุรกิจเป็นหลัก  โดยจีนมีการเติบโตในด้านชำระเงินผ่านดิจิทัลค่อนข้างสูง  เชื่อว่ายิ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ยิ่งมีพื้นที่ หรือมีรูมให้ธนาคารเข้าไปเติบโตได้ 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธนาคารมีสาขาและสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศทั้งหมด 16 แห่ง  ประกอบด้วย สาขาในลาว 2แห่ง  จีน 4 แห่ง และมีสาขาที่หมู่เกาะเคย์แมน ฮ่องกง กรุงพนมเปญ และมีสำนักงานผู้แทนอีก 7 แห่ง 

      “ธุรกิจในจีนคืบหน้าไปมาก ปีหน้าเราจะเข้าตลาดนี้ผ่านดิจิทัล ถามว่าเราจะสู้กับจีนได้มั้ย เรามองว่าตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เชื่อว่ายังมีพื้นที่ที่เราจะเข้าไปได้อยู่ สัดส่วนเพียงน้อยนิดจากของลูกค้าทั้งหมด ก็ทำให้เติบโตได้แล้ว และไปสู่เป้าหมายการลูกค้าดิจิทัลแบงกิ้งสู่ 100 ล้านคนในอนาคต 

นางสาวขัตติยา ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ธนาคารยังคงตั้งเป้าบริหารหนี้เสียเองต่อเนื่อง เนื่องจากเชื่อว่า การประคับประคองลูกค้าไว้ในพอร์ตและพยายามแก้ไขเอ็นพีแอลให้ดีขึ้น จะดีกว่าที่ธนาคารจะตัดขาดทุน หรือ ตัดสินใจขายพอร์ตออกไปเพื่อให้บริษัทอื่นๆรับไปบริหาร เพราะเชื่อว่าการที่มีลูกค้าอยู่ในมือ จะทำให้ธนาคารมีโอกาสกลับมาเติบโตได้จากพอร์ตลูกค้าเหล่านี้ หากสามารถแก้ไขปัญหาหนี้เสียได้ และเมื่อลูกค้ากลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติ แบงก์ก็มีโอกาสได้รายได้ใหม่ๆเพิ่มขึ้น

ส่วนแนวโน้มหนี้เสีย ยอมรับว่าปีหน้าถือเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธนาคาร ในการดูแลเอ็นพีแอลให้อยู่ในกรอบที่ธนาคารตั้งไว้ที่ระดับ 3.6-4% เนื่องจากปีหน้าเจอทั้งภาพเศรษฐกิจที่ชะลอ สงครามการค้าที่ยืดเยื้อ บางประเทศส่งสัญญาณเกิดเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น โดยหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เชื่อว่าหลักๆมาจากกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ถือเป็นพอร์ตใหญ่ของธนาคาร ขณะที่แนวโน้มหนี้เสียปีนี้ คาดว่าจะคุมให้อยู่ที่ระดับ 3.5% ได้

157647973583