พิพิธภัณฑ์สื่อสหรัฐอายุกว่า 2 ทศวรรษ ‘ปิดตัว’ สิ้นปีนี้
พิพิธภัณฑ์สื่อในสหรัฐที่จัดแสดงผลงานเกี่ยวกับข่าวเตรียมปิดตัวลงสิ้นปีนี้ หลังเปิดมานานกว่า 2 ทศวรรษ สะท้อนธุรกิจสื่อ “ขาลง”
ท่ามกลางสารพันอุปสรรคที่รุมเร้าอุตสาหกรรมสื่อของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงปัญหาทางการเงินและการตกเป็นเป้าโจมตีของบรรดาผู้นำทางการเมือง "นิวเซียม" (Newseum) พิพิธภัณฑ์สื่อซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน กำลังจะปิดตัวลงในวันที่ 31 ธ.ค.นี้
นิวเซียมก่อตั้งขึ้นครั้งแรกที่เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนียในปี 2540 ก่อนย้ายมายังอาคาร 7 ชั้น ถนนเพนซิลเวเนีย อะเวนิว ที่อยู่ระหว่างรัฐสภากับทำเนียบขาวในเดือน เม.ย. 2551 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมีผู้เยี่ยมชมประมาณ 10 ล้านคนแล้ว และถูกใช้จัดงานแถลงข่าวและงานต่าง ๆ นับไม่ถ้วน รวมถึงจัดแสดงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของโลก เช่น เหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. 2544 (9/11) และข่าวประจำวันที่เกิดขึ้นทั่วโลก
จริง ๆ แล้ว นิวเซียมประกาศตั้งแต่ต้นปีนี้ว่า จะขายอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบโดย เจมส์ โปลเช็ก สถาปนิกชื่อดังชาวอเมริกัน ให้แก่มหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ ในราคา 372.5 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ เดอะ ฟรีดอม ฟอรัม กลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรที่จัดตั้งขึ้นโดย อัล นอยฮาร์ธ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ยูเอสเอ ทูเดย์ ซึ่งทำหน้าที่บริหารพิพิธภัณฑ์รับปากว่า จะยังคงเดินหน้าให้ความรู้ประชาชนเรื่องความสำคัญของสื่อมวลชนเสรีต่อไป แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ได้หรือไม่
ขณะนี้ พิพิธภัณฑ์ยังมีเวลา 6 เดือนในการเคลื่อนย้ายงานที่จัดแสดงทั้งหมดไปยังสถานที่เก็บ หลังจากนั้นจะมีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป อาจก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ จัดนิทรรศการเคลื่อนที่ หรือจัดแสดงทางออนไลน์เท่านั้น
“อนาคตของนิวเซียมในเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจน” ซอนยา กาวานคาร์ โฆษกพิพิธภัณฑ์เผย
การปิดตัวของนิวเซียมสะท้อนถึงธุรกิจสื่อทั่วโลกที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยศูนย์วิจัยพิว เผยว่า เฉพาะในสหรัฐ หนังสือพิมพ์ปิดตัวไปแล้วหลายพันราย เนื่องจากมีปัญหาทางการเงิน และการจ้างงานในวงการสื่อช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ลดลงถึง 1 ใน 4 (25%)
ขณะที่ความเชื่อถือต่อสื่อก็ลดลงเช่นกัน โดยกัลลัพโพล เผยผลสำรวจเมื่อเดือน ก.ย. ว่า ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่เชื่ออย่างยิ่งหรือเชื่อค่อนข้างมากว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์รายงานข่าว “อย่างถูกต้องและเป็นกลาง” มีเพียง 40% เท่านั้น ลดลงอย่างมากจากกว่า 70% ในช่วงทศวรรษที่ 70