'ศาลอาญา' จัดห้องรอประกัน รองรับทุกชนชั้น
“ชูชัย” อธ.ศาลอาญา เผย 1 ม.ค. เปิดห้องรอประกัน ผตห./จำเลย ยื่นประกันคดีราษฎรฟ้องกันเอง-อัยการฟ้องครั้งแรก-คดีที่แค่โทษปรับ แยกห้องกับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ขอ ปชช.มั่นใจความปลอดภัยศาลจัดเต็ม
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหา/จำเลยในคดีอาญา โดยคำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัย ศาลอาญาจึงจัด "ห้องรอประกันสำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว" โดยกำหนดหลักเกณฑ์ดังนี้ 1.ต้องเป็นคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกันเอง 2.คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์และผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน 3.คดีที่ศาลมีคำพิพากษาปรับสถานเดียว และจำเลยประสงค์ขอยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างชำระค่าปรับ หรืออยู่ระหว่างรอชำระค่าปรับในวันที่ศาลมีคำพิพากษาเท่านั้น ไม่ว่าใครที่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้นก็สามารถใช้ห้องดังกล่าวได้ โดยไม่มีการให้ถืออภิสิทธ์ เน้นหลักความเสมอภาค ซึ่งภายในห้องมีขนาดความจุคนได้ประมาณ 15-20 คน จะมีเจ้าพนักงานตำรวจศาล (Courtmarshal) หรือตำรวจศาล หน่วยรักษาความปลอดภัยมาประจำจุดในห้อง 1 คน พร้อมกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้เพื่อรักษาความปลอดภัย โดยห้องประกันดังกล่าวจะเริ่มเปิดใช้งานจริงในวันที่ 1 ม.ค.63 นี้
นายชูชัย อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังได้เปิดเผยถึงนโยบายการปรับการบริการของศาลอาญาเพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชน ผู้ต้องหา/จำเลยมากขึ้น ด้วยว่า คดีที่ศาลลงโทษปรับจำเลยเพียงสถานเดียวส่วนใหญ่เป็นคดีความผิดเล็กน้อย หรือคดีที่ศาลเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี ในอดีตระหว่างจำเลยรอการชำระค่าปรับ ตัวจำเลยต้องถูกย้ายไปที่ห้องควบคุมของราชทัณฑ์รวมกับนักโทษอื่นๆ อาจทำให้จำเลยได้รับความอับอาย อีกทั้งญาติของจำเลยต้องลงไปชำระค่าปรับที่ชั้น 2 ของศาลซึ่งใช้เวลานาน ทำให้จำเลยและญาติของจำเลยไม่ได้รับความสะดวก ศาลอาญาจึงเพิ่มช่องทางการบริการรับชำระค่าปรับแก่จำเลย บริเวณใกล้กับห้องพิจารณาคดี ที่ศูนย์นัดความชั้น 8 อาคารศาลอาญาสำหรับจำเลยในคดีที่ศาลชั้นต้น , ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา มีคำพิพากษาลงโทษปรับจำเลยเพียงสถานเดียว จำเลยหรือญาติสามารถชำระค่าปรับที่ศูนย์นัดความดังกล่าว โดยจำเลยสามารถรอการชำระค่าปรับในห้องพิจารณาคดีที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จนกว่าจะชำระค่าปรับแล้วเสร็จ
“หลักไม่ได้ยึดตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นตาสีตาสาหรือนักการเมืองก็จะต้องเท่าเทียมกัน แต่ต่อไปก็จะมีการเร่งให้มีการประกันตัวได้เร็วขึ้นเท่าเทียมในห้องควบคุมจะมีกล้องวงจรปิดคอยตรวจสอบพร้อมทั้งมีเจ้าพนักงานตำรวจศาลคอยควบคุมรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยบริเวณถือว่าเป็นสิ่งที่เราต้องทำอยู่เเล้วเเละเป็นไปตาม นโยบาย ของประธาน ศาลฎีกาที่ให้กับประชาชนผู้มาติดต่อศาลทั่วประเทศปัญหาอันไหนที่เราพบและเราแก้ไขได้เราก็จะดำเนินการแก้ให้ก่อนได้เลย” อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระบุ
นายชูชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้โจทก์ , จำเลย , ผู้เสียหาย หรือผู้มีส่วนได้เสียในคดี มีความประสงค์จะคัดถ่ายเอกสารในสำนวนรวมถึงรายงานกระบวนพิจารณาคำสั่งหรือคำพิพากษา ฯลฯ ต้องไปคัดถ่ายเอกสารที่ชั้น 2 อาจทำให้เสียเวลาด้วยจำนวนคิวที่ยาว บางคนมีจำนวนหน้ามากน้อยต่างกัน และไม่ได้รับความสะดวกรวดเร็ว ศาลอาญาจึงเพิ่มการให้บริการคัดถ่ายเอกสารช่องทางด่วนพิเศษที่ชั้น 8 อาคารศาลอาญาสำหรับโจทก์จำเลยผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล สามารถยื่นคำร้องขออนุญาตคัดถ่ายเอกสารต่อเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ในห้องพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องลงไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ชั้น 2 เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์จะนำสำนวนไปดำเนินการคัดถ่ายเอกสารให้ที่บริเวณชั้น 8 ของศาลอาญา โดยคู่ความสามารถรอรับเอกสารที่คัดถ่ายได้ภายในวันเดียวกัน ทั้งนี้ยังรวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่มีความประสงค์คัดถ่ายสำเนาจำนวนไม่เกิน 30 หน้าได้ที่ บริการคัดถ่ายช่องทางด่วนได้เช่นกัน
เมื่อถามว่า ภายหลังที่มีการออกหนังสือเวียนเพิ่มความเข้มงวดเกี่ยวกับรักษาความปลอดภัยภายในศาลนั้นพบเจอข้อขัดข้องหรือร้องเรียนด้านใดหรือไม่ "นายชูชัย" อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณศาล ตามแนวทาง "นายสราวุธ เบญจกุล" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ออกมาเมื่อวันที่ 13 พ.ย.62 ส่วนหนึ่งเรื่องความเข้มงวดในการเยี่ยมผู้ต้องหา/จำเลย ที่ให้ญาติฝากของ/อาหารเยี่ยมผ่านทางราชทัณฑ์/เรือนจำอย่างเดียว ไม่ให้ผ่านที่ศาลทุกแห่งนั้น ในส่วนของศาลอาญาได้รับการร้องเรียนขอผ่อนผันจากประชาชนและร้านค้า ซึ่งตนได้รวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมดเพื่อจัดทำนำเสนอถึงนายสราวุธ ขอให้ผ่อนคลายระเบียบบังคับดังกล่าว ว่าให้อย่านำไปใช้กับทุกศาล บางศาลที่มีความเข้มงวดเรื่องรักษาความปลอดภัยที่สามารถควบคุมได้ขอให้งดเว้น เพราะตนเห็นว่าญาติก็อยากให้ทางผู้ต้องขังได้รับประทานอาหารสดๆร้อนๆ ระหว่างรอพิจารณาคดี ส่วนในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในขณะนี้ ตนมีความพอใจในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ 100 % อย่างไรก็ดี ตนได้ขอสำนักงานศาลยุติธรรม จัดเครื่องตรวจอาวุธ , เครื่องสแกนบัตรประชาชนเพิ่ม โดยอนาคตเครื่องสแกนบัตรดังกล่าวอาจจะมีการเชื่อมข้อมูลหมายจับ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้เริ่มลิงก์ กับสถานีตำรวจหลายแห่งแล้ว
"เรายังให้ความสำคัญ มุ่งเน้นเรื่องของคนมากที่สุดด้วย เพราะแม้ระบบจะทำมาดีเพียงใด มีเครื่องสแกนอาวุธดีแค่ไหน หากคนปล่อยปะละเลย ก็ไม่เกิดประโยชน์ สุดท้ายขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของศาลอาญา และขอความร่วมมือกับทางประชาชนที่จะเดินทางมาศาลให้ปฏิบัติตามระเบียบ อย่าได้พกพาสิ่งผิดกฎหมาย สิ่งต้องห้ามเข้ามาในบริเวณศาล หากฝ่าฝืนจะมีโทษละเมิดอำนาจศาล จำคุกได้ไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 500 บาท"