ดิสรัป บริษัทสร้างโมเดลบริหารใหม่ - ดึงเทคโนโลยีปรับตัวสู่ เทคคอมพานี ย้ำ ธุรกิจต้องสามารถอยู่กับสังคมได้อย่างยั่งยืน
ปี 2562 เป็นปีที่ยากลำบากในการขับเคลื่อนธุรกิจ หลังจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและสงครามการค้าที่ส่งผลต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทย ในขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพิ่มมากขึ้น หลายปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นแรงผลักดันให้มีการปรับ “โมเดลธุรกิจ” รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรม
ปัจจัยดังกล่าวเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “จรีพร จารุกรสกุล” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ได้รับการคัดเลือกจากกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจให้เป็น “Business Person of the Year 2019” หรือ “สุดยอดซีอีโอ”
การพิจารณาดังกล่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือก 3 ส่วน คือ 1.การขับเคลื่อนองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลง หรือ Transformation ถ่วงน้ำหนัก 45% 2.ผลดำเนินงาน ถ่วงน้ำหนัก 30% และ 3.Environmental Social and Governance (ESG) ถ่วงน้ำหนัก 25%
ที่ผ่านมาบทบาท “จรีพร” ชัดเจนขึ้นจากการรับหน้าที่กรรมการผู้จัดการที่ดูแลฝ่ายพัฒนาโครงการด้วย ซึ่งได้มีส่วนในการขับเคลื่อนจากองค์กรที่มีเป้าหมาย “Warehouse Asia” มาสู่องค์กรที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจในเป้าหมาย “Your Ultimate Solution Partner” ที่มองเห็นการเคลื่อนไหวของอีคอมเมิร์ซจะมาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิม
ในขณะที่ความเป็นผู้นำของ “จรีพร” เด่นชัดเมื่อขึ้นมารับหน้าที่ประธานกรรมการเมื่อเดือน ก.พ.2562 และได้ขับเคลื่อนการปรับโฉมนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งของดับบลิวเอชเอให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยมีการนำ Internet of things(IoT) มาใช้สำหรับสมาร์ตวอเตอร์โซลูชั่น เฟสแรกที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก (มาบตาพุด)
เธอทุ่มงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อรองรับการจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ การบริการเทคโนโลยีไฟเบอร์ออพติก (FTTx) ในนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มศักยภาพของธุรกิจโลติสจิกส์ เช่น โครงการดับบลิวเอชเอ อี-คอมเมิร์ซพาร์ค จ.ฉะเชิงเทรา รวมแล้วใช้งบลงทุนในทุกกลุ่มธุรกิจปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท
“ดับบลิวเอชเอไม่กลัวเรื่องเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้รวดเร็วขึ้น" นี่คือเหตุผลสำคัญที่ “จรีพร” อธิบายถึงเหตุผลการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมา Transform ธุรกิจนับตั้งแต่เห็นโอกาสที่อีคอมเมิร์ซจะมาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจเมื่อ 6-7 ปี ที่ผ่านมา และสิ่งที่คาดการณ์ไว้กำลังจะเกิดขึ้น
“จรีพร” เล่าว่า การ Transform องค์กรในช่วงที่ผ่านมาจะนำมาสู่ “โมเดลธุรกิจใหม่” และจะทำเป็น “โรดแมพ 2021” ที่เป็นการพัฒนาธุรกิจของดับบลิวเอชเอรองรับอนาคต เป็นโรดแมพที่นำไปสู่ “Tech Company” ซึ่งจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกลุ่มธุรกิจ เช่น IoT ซึ่งปัจจุบันดับบลิวเอชเอมี 4 กลุ่มธุรกิจ
1.ธุรกิจโลจิสติกส์ ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาควบคุมจัดการตั้งแต่คลังสินค้า การขนส่งและการกระจายสินค้า
2.ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการดิสรัปตัวเองด้วยการปรับจากการเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม นำไปสู่การพัฒนา Smart Industrial Estate
3.ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ซึ่งจะมีการวางโครงสร้างพื้นฐาน Smart Grid เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะ “Sand Box” ที่นำบล็อกเชนมาใช้ ซึ่งในนิคมอุตสาหกรรมจะมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากผู้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลในนิคมอุตสาหกรรม
และ 4.ธุรกิจดิจิทัล ที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับธุรกิจการให้บริการ Data Center และ Cloud Solution ซึ่งในอนาคตจะมีความสำคัญและมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เป็นพื้นที่นำร่องของการพัฒนาเทคโนโลยี 5จี ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลของดับบลิวเอชเอได้รองรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลจากผู้ประกอบการรายอื่นด้วย
ช่วงที่ดับบลิวเอชเอไปซื้อนิคมอุตสาหกรรมเหมราชเมื่อปี 2558 ถือเป็นการ Transform ที่ใช้กลยุทธ์การขยายธุรกิจ “แนวดิ่ง” ขยับจากธุรกิจบริการโลจิสติกส์เข้าสู่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการบริษัทข้ามชาติและบริษัทไทยแบบครบวงจร โดยเฉพาะการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะมีการลงทุนภายในอาเซียนมาขึ้น
แต่ช่วงก่อนเข้าซื้อนิคมอุตสาหกรรมเหมราช เป็นช่วงที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของไทยลดลงมากจากหลายปัจจัยลบที่มาผลต่อการลงทุนในช่วงก่อนหน้า รวมถึงไม่มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านภาษีที่มีแรงดึงดูดพอ
“นักลงทุนจะมาจะดูทุกประเทศในอาเซียน เขาต้องการแรงงานถูก แต่ไทยไม่ได้ตอบโจทย์นี้ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากก็ไปเพื่อนบ้านเราหมด แล้วไทยต้องทำอย่างไร เราต้องมีมาตรการส่งเสริมด้านภาษีให้ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี จริงๆโครงสร้างพื้นฐานไทยดีเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน แต่ที่ผ่านมามากกว่า 10 ปีไทยไม่ได้ทำอะไรเลย มีเพียงสนามบินสุวรรณภูมิโครงการเดียวที่เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่”
ในขณะที่ไทยมีเพชรเม็ดงาม คือ อิสเทิร์นซีบอร์ด แต่ไทยไม่ได้ทำอะไรเลยและถ้ามีโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มจะทำให้ไทยกลับมาเราเลยเข้ามาในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม เพราะเราเชื่อว่าสุดท้ายเพราะเชื่อว่าจะทำอะไรได้อีกมากมาย
“ตอนนั้นหลายคนบอกว่าธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมซันเซ็ต แต่เรามองว่าไม่ซันเซ็ต มีอะไรให้ทำอีกมาก การขยายธุรกิจในแนวดิ่งและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ จะทำให้เราได้ Big Data มหาศาลที่จะต่อยอดธุรกิจได้ การ Transform ของเราจึงเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว”
เมื่อพิจารณาผลดำเนินงานของดับบลิวเอชเออยู่ในระดับที่พอใจ โดยไตรมาส 3 ปี 2562 ดับบลิวเอชเอมีกำไรสุทธิ 569 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 363 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีรายได้รวม 2,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.7 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 1,756 ล้านบาท
ผลดำเนินงานที่ดีขึ้นมาจากรายได้จากการขายที่ดีในนิคมอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินลดลงจากการปรับปรุงรายการทางบัญชีจากการไถ่ถอนหุ้นกู้คืนก่อนกำหนด และการลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
อ่านข่าว : ดับบลิวเอชเอตั้งนิคมฯจีน หวังดึงทุนเข้าอีอีซีแสนล้าน
รวมแล้วผลดำเนินงานงวด 9 เดือน 2562 มีกำไรสุทธิ 2,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากงวด 9 เดือน 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 1,445 ล้านบาท ในขณะที่ผลดำเนินงานทั้งปีเชื่อว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงผลดำเนินงานในปี 2563 ประเมินว่ารายได้เพิ่มจากปี 2562 แน่นอน ซึ่งในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะมีลักษณะเด่น คือ ถ้าโมเมนตั้มการซื้อที่ดินเพื่อลงทุนเกิดขึ้นก็จะมาต่อเนื่อง ซึ่งโมเมนตั้มนี้ก็จะมีต่อเนื่องไปถึงปี 2553
ในขณะการลงทุนของดับบลิวเอชเอในปี 2563 จะใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ใช้งบลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนธุรกิจปี 2563-2567 ที่มีวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท
จรีพร บอกว่า สิ่งที่สำคัญอีกส่วนของการทำธุรกิจ คือ การที่ธุรกิจสามารถอยู่กับสังคมได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีสูงและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ซึ่งสะท้อนได้จากกิจการที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจะต้องตอบโจทย์ดังกล่าว เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการบิน
การพัฒนาโครงการใหม่ ทั้งการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า คลังสินค้าและนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการให้บริการระบบสาธารณูปโภคและอสังหาริมทรัพย์ ได้คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ