นวัตกรรม “อาหาร-บริการ” ผู้สูงวัย ตอบโจทย์ Aged Society ในอนาคต
ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2564 ซึ่งจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด ในปี 2574 โดยจะมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 28 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
การก้าวสู่สังคมสูงวัยดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ที่ต้องเตรียมมาตรการรับมือ และปรับปรุง เพิ่มเติม สวัสดิการต่างๆ การเสริมอาชีพเพื่อให้ผู้สูงวัยมีชีวิตที่มีคุณภาพเมื่ออยู่ในวัยเกษียณ รวมถึงภาคเอกชน มหาวิทยาลัย ที่พร้อมรับการเติบโตของตลาดผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งการวิจัย พัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อตอบโจทย์โลกของผู้สูงวัยในอนาคต
- ข้าวต้มหมูเพื่อผู้สูงวัย
สินค้าและบริการในปัจจุบัน ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องเปลี่ยนไปเพื่อตอบโจทย์โลกอนาคต ที่ผ่านมา สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด วิจัยข้าวต้มสำเร็จรูป ที่มีเนื้อสัมผัสเหมาะสมกับผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน สารอาหารครบถ้วน โซเดียมต่ำ เริ่มวางจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น ภายในโรงพยาบาลพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง
ธัญญ์นลิน วิญญูประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้คิดค้น ข้าวต้มสำเร็จรูปสำหรับผู้สูงอายุ อธิบายว่า ผู้สูงวัยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย โดยเฉพาะการสูญเสียฟัน โดยแบ่งผู้สูงอายุตามลักษณะการสูญเสียฟันออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1. กลุ่มที่มีการสูญเสียฟันกราม แต่มีฟันคู่สบอยู่ 2. กลุ่มที่เหลือฟันคู่สบแค่ด้านใดด้านหนึ่ง 3. กลุ่มที่ไม่เหลือฟันเลย
จึงเกิดการวิจัยและพัฒนาข้าวต้มหมูเพื่อผู้สูงอายุพร้อมรับประทาน มีเนื้อสัมผัสที่เหมาะกับผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน นอกจากนี้ ยังประกอบไปด้วย วิตามินบีรวม บี1 บี2 บี6 บี12 โฟเลต และใยอาหาร มีเนื้อสัมผัสที่นิ่มและแข็งไม่เท่ากัน พร้อมเนื้อหมู และผักที่ขึ้นรูป เน้นในเรื่องของสารอาหารครบถ้วน โซเดียมต่ำ 310 มก. หรือ 16% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน กากใยอาหารสูง เพราะผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันไม่ชอบทานผลไม้ ทำให้ขาดใยอาหาร วิตามิน และเกลือแร่บางตัว จึงจำเป็นต้องเสริมเข้าไปเพื่อให้สารอาหารครบ รวมถึงหมูที่มีเนื้อสัมผัสที่นุ่มกว่าอาหารทั่วไปเพื่อให้ทานง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ข้าวต้มผู้สูงอายุ วางจำหน่ายในราคา 69 บาท เนื่องจากสินค้าค่อนข้างจะเฉพาะกลุ่ม ปัจจุบัน จึงมีวางขายในเซเว่น อีเลฟเว่น เฉพาะสาขาโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงที่จำนวนประชากรค่อนข้างเยอะ รวม 200 สาขา และจะมีการขยายต่อไปในอนาคต
- “บีมูลเจล”เยลลี่ช่วยกลืน
ขณะเดียวกัน ภาวะการกลืนน้ำหรืออาหารลำบาก สำลักง่าย (Dysphagia) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติในการกลืน ทำให้กลืนสิ่งต่างๆ ได้ยากลำบาก เมื่อไม่สามารถกลืนอาหารได้ อาจเกิดอันตรายหลายประการจากสภาวะทุพโภชนาการ ขาดน้ำ และสารอาหาร ติดเชื้อของปอดและทางเดินหายใจ และอาจอันตรายถึงชีวิตหากขาดการดูแลที่ดีพอ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เป็นสิ่งที่พบได้ในผู้สูงอายุ
จากปัญหาดังกล่าว นำมาซึ่งการคิดค้น “บีมูนเจล” เยลลี่สำหรับผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาการกลืน โดย 6 ทีมนักวิจัย ทั้งนักโภชนาการอาหาร นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร พยาบาล และแพทย์ที่ปรึกษาในการพัฒนาให้เหมาะกับคนไข้ มีลักษณะเป็นเยลลี่เนื้อนุ่ม ลื่น กลืนง่าย เพียงใช้ลิ้นดุนให้แตก ก็สามารถรับประทานได้โดยไม่ทำให้เกิดการสำลัก ให้สารอาหารครบถ้วน 5 หมู่ ทั้งวิตามิน และแร่ธาตุชนิดต่างๆ
เดือนเพ็ญ ธาราธิติคุณ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เบนส์เวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หนึ่งในทีมนักวิจัย อธิบายว่า บีมูนเจล เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดมาจาก บีมูนเวล เครื่องดื่มแทนมื้ออาหารที่เน้นด้านการกระตุ้นเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตามสภาวะร่างกายและโรคที่แตกต่างไปของแต่ละคน โดยวางขายในร้านอาหารสุขภาพ ร้านค้าในโรงพยาบาล และร้านขายยามาแล้วก่อนหน้านี้ ด้วยความที่สินค้าเดิม เป็นแบบชงดื่ม จึงพบว่าผู้สูงอายุและผู้ป่วยในบางกลุ่ม ไม่สามารถใช้หลอดดูด หรือกลืนของเหลวที่เป็นน้ำได้เนื่องจากกลัวสำลัก
จึงเป็นที่มาของ “บีมูนเจล” ในรูปแบบเยลลี่ขนาดถ้วยไม่ใหญ่และเล็กจนเกินไป 1 ถ้วย ได้สารอาหารครบ 5 หมู่ ให้พลังงาน 120 กิโลแคลอรี่ มีให้เลือก 4 รสชาติ ซึ่งในช่วงแรกจะผลิตรสช็อคโกแลตก่อน เนื่องจากเป็นรสชาติที่สามารถทานได้ทั่วไป โดยสินค้าผ่านการฆ่าเชื้อโดยการพาสเจอร์ไรซ์ สามารถเก็บได้ราว 3 เดือนในตู้เย็น ซึ่งในอนาคตหากสินค้าสามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ดี วางแผนว่าจะพัฒนาให้สามารถเก็บได้ 6 เดือน – 1 ปี เพื่อให้การเก็บรักษาง่ายขึ้นและนานขึ้น พร้อมพัฒนาต่อยอดไปในแบบ Ultra High Temperature (U.H.T) ซึ่งสามารถเก็บได้ 1 ปี ในอุณหภูมิปกติ ทำให้ผู้ป่วยสามารถซื้อเก็บได้ทีละเยอะๆ ได้
“ผลิตภัณฑ์บีมูนเจล ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนในเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ และให้คำปรึกษา ออกแบบประดิษฐ์ คิดค้นเครื่องจักรอีกด้วย” เดือนเพ็ญ กล่าว
- Nursing Care 4.0
ล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย “การพัฒนาและขยายผลการใช้ประโยชน์ระบบบริหารสถานดูแลผู้สูงอายุ”
น.พ.ฆนัท ครุธกุล นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า การใช้เครื่องมืออำนวยความสะดวกจำเป็น ในกรณีฉุกเฉิน Nursing Care ต้องสามารถดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นก่อนส่งถึงโรงพยาบาล ดังนั้น การจัดการระบบข้อมูลของคนไข้ และการร่วมมือกับ 1669 จะช่วยให้ระบบการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลรวดเร็วยิ่งขึ้น อนาคตเราต้องมองว่า ระบบต้องง่าย แสกนบัตรและมีข้อมูลในระบบทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์บิ๊กเดต้า สามารถทำให้เป็นสถานดูแลผู้สูงอายุต้นแบบได้ในอนาคต ผ่านการร่วมมือระหว่างสมาคมฯ และสวทช.
ด้าน ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ A-MED สวทช. กล่าวว่า จากการศึกษาความต้องการเบื้องต้น นำมาสู่การพัฒนาระบบบริหารสถานดูแลผู้สูงอายุ แบ่งเป็น Main Platform ได้แก่ Software ระบบบริหารจัดการสถานดูแลผู้สูงอายุ เน้นพัฒนา 3 ระบบสำคัญ คือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ ข้อมูลทางสุขภาพของผู้สูงอายุจะได้รับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการพัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลทางสุขภาพในรายบุคคล และจะแจ้งเตือน หรือแนะนำผู้ดูแลให้ดำเนินการแก้ไขได้อย่างเหมาะสม
ถัดมา คือ ระบบบริหารการดูแลผู้สูงอายุ (Care Plan Management) เป็นเครื่องมือในการช่วยการวางแผน ติดตาม ควบคุมคุณภาพ การดูแลผู้สูงอายุ สร้างความมั่นใจในบริการ สำหรับญาติหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ และ ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ผู้ดูแลสถานดูแลสามารถแจ้งไปที่สายด่วน 1669 ซึ่งจะมีการส่งข้อมูลพิกัด พร้อมกับข้อมูลพื้นฐานสุขภาพของผู้สูงอายุ เพื่อให้การช่วยเหลือรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีการประเมินว่าธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุในไทย มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย สถานดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Care) การท่องเที่ยว อาหารผู้สูงอายุ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุต่างๆ เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 10 ต่อปี