กทพ.ถกยุติพิพาทบีอีเอ็มวันนี้ คาดส่งข้อสรุปเข้าครม. 21 ม.ค.
“ศักดิ์สยาม” มั่นใจจบข้อพิพาททางด่วน “บีอีเอ็ม” เดือนนี้ หลังบอร์ดเร่งถกแนวทางแลกสัมปทานวันนี้ (6 ม.ค.) คาดเข้าครม.เห็นชอบ 21 ม.ค. 63 ด้านสหภาพฯ เดินหน้าคัดค้าน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการสรุปแนวทางยุติข้อพิพาททางด่วน ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) โดยระบุว่า ภายหลังจากที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่ากระทรวงฯ ไม่จะเป็นต้องนำแนวทางมาเสนอให้ ครม.พิจารณาแล้ว แต่ควรกลับไปทำรายละเอียดให้สมบูรณ์กว่านี้ซึ่งล่าสุดกระทรวงฯ ได้สั่งการให้ กทพ.เร่งหารือรายละเอียดของการดำเนินการแนวทางยุติข้อพิพาทดังกล่าวร่วมกับบีอีเอ็ม
โดยจะมีการหารือกับในวันที่ 6 ม.ค.นี้ เวลา 13.30 น.ที่กระทรวงคมนาคม เพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมดภายในเดือน ม.ค.นี้ ทั้งนี้ การดำเนินการหลังจากนี้ ถือเป็นหน้าที่ของ กทพ. ที่ต้องเจราจาทุกอย่างให้เป็นไปตามแนวทางของคณะทำงานฯ รวมถึงเจราจาเรื่องข้อกังวลของสหภาพฯ ว่าจะไม่มีข้อพิพาทใดๆ เกิดขึ้นจนเป็นคดีฟ้องร้องให้ กทพ.ต้องเป็นหนี้ในอนาคต
ทั้งนี้เมื่อเจรจาเสร็จเรียบร้อยทาง กทพ.จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกำกับตามมาตรา 43 เห็นชอบการแก้ไขสัญญา จากนั้นกระทรวงคมนาคมก็ส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจพิจารณา ก่อนนำเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาในวันที่ 21 ม.ค. นี้ โดยคาดว่า กทพ.และบีอีเอ็ม จะสามารถลงนามในสัญญาใหม่ และต้องถอนฟ้องคดีที่มีอยู่ทั้งหมดภายในเดือน ก.พ.2563 ให้เสร็จสิ้น สัญญาจึงมีผลบังคับใช้และจึงเริ่มนับระยะเวลาสัมปทานใหม่ได้
สำหรับแนวทางยุติข้อพิพาทดังกล่าว จะมีการขยายอายุสัมปทานทางด่วน 3 สัญญา เพื่อยุติข้อพิพาทที่ กทพ.และบีอีเอ็มมีต่อกันทั้งหมดรวม 17 คดี มูลค่าข้อพิพาทกว่า 58,873 ล้านบาท แต่มีการตัดข้อเสนอขอเอกชนในเรื่องของการก่อสร้างโครงการทางด่วน2ชั้น (Double Deck)จากด่านประชาชื่น-อโศก ระยะทาง17กม. วงเงิน32,000ล้านบาท ออกไปก่อน เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่าสหภาพการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ยังคงคัดค้านแนวทางยุติข้อพิพาท เนื่องจากมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน โดยหากมีการเสนอแนวทางนี้ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาทาง สร.กทพ.จะนัดรวมตัวเพื่อยื่นเรื่องคัดค้าน นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นว่าในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการสั่งการ แต่เป็นเพียงการให้อำนาจ กทพ.เป็นผู้ตัดสินใจแนวทางยุติข้อพิพาทเท่านั้น หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น กทพ.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้ตัดสินใจเลือกแนวทางดังกล่าวเอง