ส่องจุดยืน ‘ลี กาชิง’ นักบุญหรือคนบาป
ตอนที่ "ลี กาชิง" มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุดของฮ่องกง เรียกร้องให้ทางการโอนอ่อนผ่อนตามให้กับผู้ประท้วงหนุ่มสาว พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลับกล่าวหาว่าเขาปกปิดการก่ออาชญากรรม แต่ก็ใช่ว่าผู้ประท้วงจะชื่นชมกับมหาเศรษฐีรายนี้
“เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากระบบอยุติธรรม” เพนนี ลก ผู้ประท้วงวัย 36 ปีกล่าวกับเว็บไซต์นิกเคอิ เธอมองว่า อภิมหาเศรษฐีรายนี้ให้ความสำคัญกับธุรกิจก่อนอุดมการณ์เสมอ
ความเกลียดชังจากทั้งสองฝ่ายเป็นสิ่งที่ลีได้รับเป็นประจำสม่ำเสมอ เขามีจุดยืนต่อความเป็นไปของฮ่องกงในวันนี้แบบกำกวมและบางครั้งก็ขัดแย้ง
ลีเริ่มต้นอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวสร้างความมั่งคั่งได้ถึง 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ขยายอาณาจักรธุรกิจออกไปอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมเกือบทุกมิติในชีวิตประจำวันของคนฮ่องกง และสามารถแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้ด้วยความมั่งคั่งที่มี
ในช่วงเวลา 2 เดือนเขาบริจาคเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่นที่เสียหายจากเหตุไม่สงบ ร้านค้าปลีก บริษัทท่องเที่ยว จัดเลี้ยง พ่อค้าแม่ขาย ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิลีมากถึงรายละ 60,000 ดอลลาร์ฮ่องกง
ไซม่อน หว่อง ประธานสมาคมอาหารญี่ปุ่นในฮ่องกง กล่าวว่า เงินก้อนนี้เป็นตัวช่วยที่ร้านอาหารต้องการมาก
“กระบวนการทั้งหมดดำเนินไปเร็วมาก ส่วนใหญ่ยื่นเรื่องไปไม่นานก็ได้เงินเลย”
แต่ความใจกว้างของลีก็มีนัยอันย้อนแย้ง ความมั่งคั่งมหาศาลของเขาเป็นตัวอย่างความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยเติมไฟการประท้วงที่ยืดเยื้อกว่า 6 เดือน ยิ่งไปกว่านั้นเงินที่ให้ก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม
“สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดจากเจ้าของที่ดินคือการลดค่าเช่า” หว่องอธิบาย
นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่กี่รายรวมทั้งลี ผู้เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า 15 แห่งในฮ่องกง ตกลงใจลดค่าเช่าทั้งๆ ที่รายได้ส่วนนี้ลดลงมาก การประท้วง 6 เดือนทำให้ร้านค้าปลีกเจ็บหนัก เกือบ 1 ใน 3 เตือนว่าอาจต้องปลดพนักงานเร็วๆ นี้
สถิติปี 2560 ของรัฐบาลระบุว่า ค่าเช่าเป็นรายจ่ายก้อนเดียวที่มากที่สุดสำหรับหลายๆ ธุรกิจ ปกติแล้วร้านค้าปลีกในฮ่องกงใช้งบประมาณ 40% ไปกับค่าเช่า ผู้ประกอบการร้านอาหารใช้งบฯ ค่าเช่าราว 25%
“เราเอาตัวไม่รอดหรอกภายใต้สภาวะแบบนี้” หว่องยังคงรำพึงรำพัน
ขณะที่ลีแสดงสองบทบาทพร้อมกัน ทั้งนายทุนผู้ไร้ความปราณีกับมหาเศรษฐีใจบุญ น้ำเสียงเรื่องการเมืองที่คลุมเครือไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโปรดปราน
โจเซฟ พี เอช ฟาน จากภาควิชาการเงิน มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง กล่าวว่า ลีแตกต่างจากนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นที่มีธุรกิจหลักอยู่ในฮ่องกงและจีน บริษัทของลีขยายพอร์ตการลงทุนออกไปหลากหลาย ครอบคลุมทั่วเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย นั่นหมายความว่าเขากำลังไต่เส้นลวดระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ที่ใช้ระบอบอำนาจนิยมกับประชาธิปไตยแบบตะวันตก เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง
“ลีต้องเอาทั้งสองฝ่าย เขาไม่อาจถูกมองว่าเป็นสาวกพรรคคอมมิวนิสต์ต้อยๆ หรือเป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตย”
เอกสารการเงินของบริษัทเผยว่า ปี 2561 ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิงส์ บริษัทเรือธงของลีทำกำไรและรายได้กว่า 80% จากนอกฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ฟานกล่าวว่า การกระจายธุรกิจมากมายออกไปต่างประเทศ เท่ากับว่าลีเสี่ยงฝ่าฝืนรัฐบาลปักกิ่งได้มากกว่าบริษัทอื่น เช่น คาเธ่ย์แปซิฟิกแอร์เวย์
แต่ในเวลาเดียวกันตระกูลลีก็มีอิทธิพลมากในฮ่องกง ทำธุรกิจตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก ไปจนถึงขนส่งและโทรคมนาคม อาณาจักรธุรกิจของลีครอบคลุมเกือบทุกอย่างในชีวิตของชาวฮ่องกง
ฟานมองว่า ความสำเร็จอย่งยิ่งยวดนี้ส่งผลร้ายต่อครอบครัว เมื่อคนหนุ่มสาวผู้แค้นเคืองต่อความเหลื่อมล้ำเริ่มท้าทายนักธุรกิจใหญ่
“ในฐานะส่วนหนึ่งของผลประโยชน์ นักธุรกิจควรแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ก่อนที่ปัญหาจะระเบิดออกมา นี่เหมือนกับการจ่ายค่าคุ้มครองเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง”
วิคเตอร์ เจิ้ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันเอเชียแปซิฟิกศึกษาแห่งฮ่องกง เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องมีการลงมือทำอะไรบางอย่าง แต่นักธุรกิจผู้มั่งคั่งของฮ่องกงต้องทำมากกว่าการบริจาค
“ในทัศนะของผม ถ้าพวกเขาจัดการกับปัญหาราคาสินค้าสูง ค่าเช่าแพง และขยับชนชั้นทางสังคมไม่ได้แล้วล่ะก็ สุดท้ายพวกเขาก็จะเจ็บตัวเหมือนกับบูมเมอแรง”
อภิมหาเศรษฐีที่อื่นๆ พยายามปิดช่องว่างความมั่งคั่ง ไม่กี่วันก่อนวอร์เรน บัฟเฟต และบิล เกตส์ สองผู้มั่งคั่งที่สุดในโลก เรียกร้องให้สหรัฐเก็บภาษีคนรวยมากขึ้น บัฟเฟตอธิบายว่า ระบบอุตสาหกรรมที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในทัศนะของฟิลิป จง นักวิเคราะห์จากมอร์นิงสตาร์ อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนท์ มองว่า การกระทำของลีและท่าทีทางการเมืองที่คลุมเครือ อาจจบลงด้วยผลลัพธ์ที่ไม่ตั้งใจต่อครอบครัวก็ได้ เขาสังเกตว่าลีขายสินทรัพย์ในจีนช่วงไม่กี่ปีหลัง และความคิดเห็นของเขาต่อการประท้วงสร้างความฉงนให้กับรัฐบาลปักกิ่ง จนอาจมองว่าบริษัทของลีไม่เป็นที่โปรดปราน และตัวเขาอาจไม่ได้รับผลกระทบเพียงคนเดียว
ริชาร์ด ลี ลูกชายคนสุดท้ายของลี กาชิงมีกิจการโทรคมนาคม บริษัทของริชาร์ดทำรายได้ส่วนใหญ่จากฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อเดือน ส.ค.ลีผู้ลูกร่วมมือกับนักธุรกิจรายอื่นๆ ลงโฆษณาเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับประณามการประท้วง
“ลูกชายของเขาเป็นคนที่ต้องจ่ายค่าเสียหาย” นักวิเคราะห์สรุป