เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ..คืออะไร ทำไมต้องมี ทำไมต้องปรับใหม่?
พามาหาคำตอบกับเรื่อง "เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ" ว่าจริงๆ แล้วคืออะไร? ทำไมต้องมีการกำหนดเป้าหมายนี้ไว้ และล่าสุดที่ไทยมีการปรับครั้งใหม่ จะเปลี่ยนนโยบายทางด้านการเงินไทยหรือไม่
ทำไมต้อง "มี" เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ? อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวเลขสะท้อนราคาสินค้าและบริการในประเทศว่าแพงขึ้นแค่ไหน ซึ่งหากสูงเกินไป จะทำให้ค่าครองชีพเพิ่มมากขึ้น หรือหากผันผวนมากเกินไปจะทำให้ภาคธุรกิจวางแผนธุรกิจและตั้งราคาสินค้าได้ยาก ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคาหรือดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวนเกินไป เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยจะกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ชัดเจน เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถวางแผนการบริโภค การออม และการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ รมว.คลัง ตกลงร่วมกันว่าควรปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อใหม่ ให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 1 - 3% สำหรับปี 2563 แทนเป้าหมายที่ 2.5% ± 1.5% โดยยังเป็นเป้าหมายระยะปานกลางเช่นเดิม
- ทำไมต้อง "ปรับ" เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ?
ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานจากปัจจัยโครงสร้าง 3 ข้อหลัก คือ (1) การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง (2) การขยายตัวของธุรกิจ e-commerce ทำให้เกิดการแข่งขันสูง ผู้ขายขึ้นราคาสินค้าได้ยาก และ (3) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ทำให้การจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการมีแนวโน้มลดลง ในภาวะเช่นนี้หากเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงอยู่ อาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ประชาชนจะคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้าได้ยากขึ้น กระทบต่อการวางแผนการผลิต การลงทุน และการจ้างงาน
การตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่สูงเกินไปยังส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ทำให้มีต้นทุนสูง เนื่องจาก กนง.ต้องลดดอกเบี้ยมาก หรือคงดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานเกินไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปสู่กรอบเป้าหมาย ซึ่งอาจทำให้เกิดการสะสมความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจากพฤติกรรมการก่อหนี้ หรือการลงทุนที่ไม่เหมาะสม จนอาจกลายเป็นวิกฤตในอนาคตได้
นอกจากนี้ในภาวะทั่วโลกกำลังเผชิญกับเศรษฐกิจการเงินโลกที่ผันผวน ทั้งจากสงครามการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เป้าหมายนโยบายการเงินจำเป็นต้องยืดหยุ่นเพียงพอให้ กนง.สามารถดูแลเป้าหมายอีก 2 ด้าน คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้ดีขึ้น
- เป้าใหม่ & เป้าเก่า : ปรับลดเป้า ไม่มีค่ากลาง
(1) ปรับลดเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน โดยการปรับลดเป้าหมายเป็น 1-3% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไปจนกระทบค่าครองชีพของประชาชน และศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนสาเหตุที่ปรับขอบบนของเป้าหมายลง เนื่องจากในระยะต่อไปอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสไม่มากที่จะสูงถึง 3-4% จากผลของปัจจัยโครงสร้าง ขณะที่ขอบล่างของเป้าหมายไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะหลังจะต่ำกว่า 1% เนื่องจากขอบล่างที่ต่ำเกินไปอาจทำให้สาธารณชนคาดการณ์เงินเฟ้อต่ำลงมาก
(2) เปลี่ยนรูปแบบของเป้าหมายเพื่อให้นโยบายการเงินมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมกำหนดเป้าหมายให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ค่ากลาง 2.5% และกำหนดขอบ (band) ที่ยอมให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวออกจากค่ากลางได้ในระยะสั้นที่ ± 1.5% แต่เป้าหมายใหม่กำหนดเป็นแบบช่วง (range target) คือไม่มีค่ากลางเพียงค่าเดียวเหมือนเป้าหมายเดิม ซึ่งมีข้อดีคือ กนง.มีความยืดหยุ่น คล่องตัวในการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น และสามารถดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี การใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อแบบช่วงอาจสร้างความท้าทายกับ กนง. ทำให้ประชาชนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตแตกต่างกัน ดังนั้น กนง.จึงให้ความสำคัญกับการสื่อสารให้มากขึ้นในระยะต่อไป
(3) ปรับปรุงการสื่อสาร กรณีอัตราเงินเฟ้ออยู่นอกกรอบเป้าหมายอย่างทันการณ์ โดย กนง.จะประเมินเงินเฟ้อทุกเดือน ด้วยเกณฑ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเคลื่อนที่ย้อนหลัง 12 เดือน หรือประมาณการเฉลี่ยเคลื่อนที่ 12 เดือนข้างหน้า หากอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง.จะมีจดหมายเปิดผนึก (open letter) ชี้แจง รมว.คลังทันที และจะติดตามภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด รวมถึงจะทำจดหมายเปิดผนึกอีกทุก 6 เดือน ถ้าอัตราเงินเฟ้อตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกเป้าหมายจากเดิม
- ปรับเป้าหมายใหม่ แต่การดำเนินนโยบายการเงินยังคงหลักการเดิม
การปรับเป้าหมายในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณว่าแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินจะเปลี่ยนจากเดิม นโยบายการเงินยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับผ่อนคลายเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวและทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย การตัดสินนโยบายยังยึดหลักการเดิม คือ (1) ยึดหลัก data dependent โดย กนง.จะติดตามข้อมูลที่หลากหลายและทันสมัย ประกอบการตัดสินปรับนโยบายเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป และ (2) รักษาสมดุลในการดูแลเป้าหมายทั้ง 3 ด้าน ทั้งเสถียรภาพราคา การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการผลิต การลงทุน และการจ้างงานต่อไป
[บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย]