ทักษะอะไรที่คนทำงานรุ่นใหม่ต้องรู้!

ทักษะอะไรที่คนทำงานรุ่นใหม่ต้องรู้!

เผยทักษะจำเป็น และเป็นที่ต้องการในยุคดิจิทัล ดิสรัปชัน พร้อมแนวคิดในการบริหารคนจาก 3 ผู้บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

โลกดิสรัปชันไม่มีใครหนีพ้น เว้นแต่จะยอมรับและ “ปรับตัว” ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเสาะหาโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งองค์กรพลังงานขนาดใหญ่ของไทย ที่ขยับตัวเปลี่ยนตัวเอง ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

3 ผู้บริหารบ้านปู (BANPU) เวโรจน์ ลิ้มจรูญ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ กิตติพล ปรีชาวีรกุล Manager - Strategy and Business Development และนภาพร อินทรีย์ Section Manager - Digital Specialist ร่วมพูดคุยถึงทิศทางในการบริหารทรัพยากรบุคคลในยุคดิจิทัล ดิสรัปชัน

เวโรจน์ เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้องค์กรที่มีพนักงานกว่า 6,300 คน ต้องลุกขึ้นมาลงมือเปลี่ยนตัวเองอย่างจริงจัง คือ เมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีแรงปะทะทั้งต่อบริษัท ระบบเศรษฐกิจ และการทำงานของพนักงานทุกคนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์พลังงานสีเขียว หรือ Green Energy ที่เน้นการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น การใช้ Digital Connectivity หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงพลังงานได้ง่ายขึ้น

157907562568

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น นอกจากทำให้บริษัทต้องพยายามปรับเปลี่ยนทิศทางในการดำเนิน “ธุรกิจ” แล้ว ยังจำเป็นต้องปรับทิศทางในการพัฒนา “คน” ให้สอดคล้องกับเทรนด์ที่กำลังเชี่ยวกราก

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกที่รวดเร็ว เราจะไม่ทัน และไม่ตอบโจทย์คนทำงานรุ่นใหม่ รวมถึงการแข่งขันกับธุรกิจ”

เขาย้ำว่าความสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่ปรับเปลี่ยนไปจากการบริหารแบบเดิมแทบจะสิ้นเชิง

เริ่มตั้งแต่การปรับสายบังคับบัญชาให้สั้นลง ตั้งแต่ CEO และผู้ปฏิบัติงาน มีเพียงอยู่ที่ 4 ระดับ ทำให้การกระจายอำนาจจากระดับบริหาร หัวหน้างาน ไล่เรียงมาจนถึงผู้ปฏิบัติงานรวดเร็ว สามารถสื่อสารกันได้เร็วขึ้น ทำให้พนักงานมีระยะเวลาในการทำงานมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากปรับโครงสร้างให้แบนลงเพื่อความรวดเร็วแล้ว ประเด็นที่สำคัญที่สุดสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจยุคดิสรัปชัน คือสรรหา “คน” ที่มีศักยภาพเหมาะสมกับงาน และสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร

“ท้ายที่สุดโลกของธุรกิจต้องการคนที่มี Multi Skill”

มุมมองของ เวโรจน์ ที่สะท้อนว่าความถนัดเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางรอดของคนทำงานในยุคนี้อีกต่อไป ไม่ว่าจะคุณจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นหัวหน้างาน หรือเป็นเด็กจบใหม่ก็ต้องพัฒนาตัวเองไปสู่ทักษะที่หลากหลายหรือ Multi Skill กันทั้งนั้น

157907556250

เพราะโลกดิสรัปชันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ทุกชั่ววินาที และคาดเดาได้ยาก ทักษะการทำงานที่รอบด้านและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมจึงจำเป็นสำหรับการทำงานยุคใหม่

ด้วยสาเหตุนี้ ทำให้ปัจจุบันองค์กรไหนๆ ก็ต่างมองหาพนักงานที่มีความสามารถหลากหลาย ทั้งมิติของ Hard Skill ที่หมายถึงทักษะทางวิชาการ เช่น ทักษะในการเรียนรู้และเข้าใจด้านเทคโนโลยี ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาที่ 3 ฯลฯ

ขณะที่ Soft Skill หรือทักษะในการใช้ชีวิตและบริหารจัดการตัวเอง เพราะทักษะเหล่านี้ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของงานที่มีคุณภาพ โดยทักษะขั้นต่ำควรมีสำหรับการทำงานในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่

1) Critical thinking skill : ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์

ในยุคที่ข้อมูลไหลบ่า คนทำงานควรมีทักษะในการจัดระเบียบ วิเคราะห์ และนำข้อมูลจำนวนมากใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ด้วยตัวเอง

2) Change management skill : ทักษะในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลง

เข้าใจ และจัดการกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้

3) Communication skill : ทักษะในการสื่อสารที่ดี

ในยุคดิจิทัลทุกคนมีอิสระในการสื่อสาร แต่สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทักษะการใช้เครื่องมือคือ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง แม่นยำ และเหมาะสมกับสถานการณ์เป็นทักษะที่จำเป็นมากที่สุด

การพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้สอดคล้องกับธุรกิจยุคนี้ ไม่ใช่แค่การค้นหาคนรุ่นใหม่ ที่เหมาะกับการขับเคลื่อนองค์กรเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของพนักงานที่อยู่ในองค์กรให้มีทักษะใหม่ๆ (Upskill) และพัฒนาความสามารถเดิมให้แข็งแกร่งมากขึ้น (Reskill) เช่น เพิ่มทักษะการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Mindset), ทักษะทางการตลาด (Commercial Mindset) และทักษะในการบริหารจัดการคน (People Management) ฯลฯ

“น้องๆ รุ่นใหม่ควรให้ความสำคัญกับการบริหารเวลาในการพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น บริษัทต้องการมัลติสกิลแม้ไม่ใช่สกิลที่ยิ่งใหญ่ แต่สามารถปรับตัวได้ เติบโตได้ และทำงานอย่างมีความสุข การทำงานยุคใหม่จะต้องไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง ปราดเปรียว เตรียมพร้อมกับทุกสถานการณ์” เวโรจน์ กล่าว

ขณะที่ นภาพร อินทรีย์ เล่าว่า “Work life Balance เป็นสิ่งที่ทุกคนมองหา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ สนับสนุนให้พนักงานทำงานเต็มที่ ไปพร้อมกับการจิตใจและร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งทำให้เราสามารถสร้าง Productivity กับองค์กรมากขึ้น”

ความยากของการบริหารทรัพยากรบุคคลจึงไม่ใช่แค่การหาคนทำงานที่เหมาะสมให้ได้เท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องรักษาคนทำงานเหล่านี้ให้อยู่กับองค์กรได้นาน ผ่านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนบรรยากาศการทำงาน ที่ช่วยขับเคลื่อนผลลัพธ์ในรูปแบบใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานทุกเจนเนอเรชัน ไม่ว่าจะเป็น การปรับเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่น สามารถเลือกเวลาเข้างานและเลิกงานหลายรูปแบบตามความสะดวกของแต่ละคน ปรับสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน ให้เหมาะกับการสร้างสรรค์ทำให้รู้สึกวสามารถทำงานไปพร้อมกับการพักผ่อนในเวลาเดียวกัน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีมาวางโครงสร้างในการติดต่อสื่อสารภายในองค์กร เพื่อลดช่องว่างในการเชื่อมโยงงาน ช่วยให้การประสานงานรวดเร็ว และแม่นยำยิ่งขึ้น

157907559175

ด้าน กิตติพล ปรีชาวีรกุล เผยว่า ช่องว่างระหว่างวัย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการทำงานทุกองค์กร ซึ่งมีทั้งโอกาสและความท้าทายซ่อนอยู่

คนรุ่นใหม่ มีความคิดอิสระ อยากทำอะไรที่มีคุณค่ากับตัวเอง จับต้องได้ และเป็นเจ้าของผลงาน การทำงานกับคนรุ่นใหม่จึงต้องมีความยืดหยุ่นสูง อาทิ ให้ทำงานที่ไหนก็ได้ มีพื้นที่ให้แสดงความสามารถ เช่น การเปิดโอกาสให้ทำโปรเจคต่างๆ โดยบริษัทเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ลำดับขั้นในการบริหารยังคงผู้อาวุโสที่ทำงานประสานกันกับคนรุ่นใหม่ จุดเชื่อมประสานกันระหว่างคนต่างวัย ต่างเจนเนอเรชัน คือการมองว่า “ทุกคนเป็นทีมเดียวกัน” เปิดความคิด เปิดใจรับฟังทุกความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้งานสามารถดำเนินไปได้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย

และทุกครั้งที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ทุกคนต่างพยายามมองหา Solution ที่เป็นทางออกร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

การเปลี่ยนแปลงที่ยากจะคาดเดา ไม่ใช่แค่ท้าทายความสามารถของธุรกิจใหม่ๆ แต่ทำให้องค์กรใหญ่ทั้งหลายต่างปรับตัวเพื่อพิสูจน์ศักยภาพ เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด ความอยู่รอด และพัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดดให้ได้

157907558284