วิกฤตฝุ่นพิษ, ทางออก, และจุดอ่อน I Green Pulse
หลังมีการพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ขยับสูงเกินมาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เฉลี่ย 24 ชั่วโมง) หลายสถานีหรือเกือบทั้งหมดใน 53 สถานีวัดในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงกลางอาทิตย์ที่แล้ว
โดยค่าสูงสุดรายงาน ณ วันที่ 10 มกราคม เวลา 15.00 น. อยู่ที่ 52 – 120 มคก./ลบ.ม.ซึ่งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 36 พื้นที่ (พื้นที่สีส้ม) และมีผลกระทบต่อสุขภาพ 14 พื้นที่ (พื้นที่สีแดง), ทางรัฐบาลเริ่มขยับตัวอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับปัญหา โดยล่าสุด คณะกรรมการควบคุมมลพิษเรียกประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนัดพิเศษไปเมื่อวันที่ 14 ม.ค. เพื่อหารือมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นฯ PM2.5 ที่กลับมาวิกฤตอีกครั้ง
โดยที่ประชุมฯ มีมติให้ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นฯ PM 2.5ใน “สถานการณ์วิกฤต” และให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติโดยเร่งด่วน
ซึ่งมาตรการที่ที่ประชุม กก.ควบคุมมลพิษเห็นชอบในหลักการ ถือได้ว่าสอดคล้องกับการจัดระดับแนวทางดำเนินการแก้ไขสถานการณฝุ่นฯ PM 2.5 ในช่วงวิกฤต ระดับ 4 ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่มีค่าฝุ่นฯ PM 2.5 เกิน 100 มคก./ ลบ.ม. ต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องมีการนำเรื่องเสนอ ครม.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีนายกฯ เป็นผู้สั่งการ
ทั้งนี้ มาตรการยกระดับที่ได้รับความเห็นชอบของจากคณะกรรมการฯ มีทั้งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกประกาศห้ามใช้รถยนต์ที่มีมลพิษเกินมาตรฐานและการจำกัดพื้นที่และเวลาในการวิ่งของรถบรรทุกดีเซลโดยเฉพาะ โดยจะมีการขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกดีเซลเข้า กทม.จากวงแหวนรัชดาภิเษกเป็นวงแหวนกาญจนาภิเษกและการออกข้อบังคับให้รถบรรทุกดีเซลเข้าเขตพื้นที่ชั้นในของ กทม.ได้เฉพาะวันคู่ ตามช่วงเวลาที่กำหนด ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2563
นอกจากนี้ ยังจะมีการยกระดับความเข้มงวดในการตรวจจับรถยนต์ควันดำร่วมกับกรมขนส่งทางบก และออกคำสั่งห้ามใช้รถ โดยเฉพาะรถโดยสารและรถบรรทุก นอกเหนือไปจากที่ กรมฯ จะตรวจสอบรถโดยสาร(ไม่ประจำทาง)ทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุด ใน 50 เขต
นอกจากนี้ ในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมหากทำให้เกิดฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน อาจถูกสั่งให้หยุดปรับปรุงโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ในขณะที่กรุงเทพมหานคร จะช่วยควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า รวมถึงการก่อสร้างประเภทอื่นและเข้มงวดไม่ให้มีการเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด ซึ่งจะมีโทษทั้งจำและปรับอีกทางหนึ่ง
ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5
สนธิ คชวัฒน์ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอนุกรรมาธิการป้องกันและแก้ไขฝุ่นฯ PM 2.5 สภาผู้แทนฯ ที่กำลังจัดทำรายงานสถานการณ์และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลในเวลานี้ เฝ้าสังเกตสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่กำลังกลับมาในปีนี้ด้วยความกังวลแม้จะมีแผนฯ รับมือแล้วก็ตาม
อาจารย์สนธิอธิบายว่า กรุงเทพมหานคร โดยปกติจะเจอช่วงเวลาที่ "ภาวะอุณหภูมิผกผัน”(Temperature inversion) อันเนื่องมาจากมวลอากาศเย็นเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมเมืองในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลจากหนาวสู่ร้อนในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี ซึ่งจะทำให้มลพิษทางอากาศไม่สามารถลอยขึ้นได้ แต่จะถูกกดต่ำลงมาใกล้พื้นโลก และจะสะสม เพราะเป็นเวลาที่ไม่ค่อยมีลมพัดระบาย
นอกจากสภาพอากาศแล้ว ยังเป็นเรื่องของแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งจากการตรวจสอบที่ผ่านมา รัฐบาลพบว่า แหล่งกำเนิดมลพิษ PM 2.5 ที่สำคัญของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลคือ การขนส่งทางถนน 72.5%, อุตสาหกรรม17 %, การเผาในที่โล่ง5 %, ในครัวเรือน2 %, และอื่นๆ ทั่วไปที่ไม่ใช่บนท้องถนนประมาณ1%
โดยการขนส่งทางถนน โดยเฉพาะเครื่องดีเซล พบว่าแหล่งกำเนิดมลพิษ PM 2.5 เป็นรถบรรทุก28%, รถปิ๊กอัพ21 %, รถบัส7 %, รถยนต์10 %, รถมอเตอร์ไซค์5 %,รถตู้1.5 %,และอื่นๆ
ซึ่ง ณ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 กรุงเทพฯ มีรถยนต์ที่จดทะเบียนราว 10.33 ล้านคัน เป็นรถดีเซลถึง 2.7 ล้านคัน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่บวกเข้ามาทำให้สถานการณ์หนักขึ้นคือ การก่อสร้างรถไฟฟ้า 11 สาย บนถนนสายหลักในกรุงเทพฯ 10 สาย และจะมีการก่อสร้างเพิ่มในปีนี้อีก 6 สาย และการก่อสร้างริมถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารสูง ซึ่งอาคารสูง(สูงเกิน23เมตรหรือมากกว่า 8 ชั้น) ในกรุงเทพฯ มีถึงกว่า จำนวนถึง 2, 810อาคาร
อาจารย์สนธิกล่าวว่า อาคารเหล่านี้จะบดบังทิศทางและความเร็วลมที่พัดผ่านเมืองจึงทำให้ฝุ่นฯ PM 2.5ไม่สามารถเจือจางในแนวราบได้ แต่จะถูกกักขังอยู่กลางเมืองในพื้นที่กทม.นานขึ้น ในขณะที่การก่อสร้างต่างๆ แม้จะทำให้เกิดฝุ่นขนาดที่ใหญ่กว่าเป็นหลัก คือ PM 10 แต่เครื่องมือและอุปกรณ์ในการก่อสร้างที่ใช้น้ำมันดีเซลก็มีส่วนทำให้เกิดฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ไม่น้อยเช่นกัน
และที่สำคัญ กิจกรรมเหล่านี้ ล้วนทำให้สถานการณ์แย่ลงในทางอ้อม คือทำให้การจราจรติดขัด เพิ่มระยะเวลาในการปลดปล่อยฝุ่นพิษนี้สู่อากาศมากขึ้น
ในทางตรงกันข้าม อาจารย์สนธิกล่าวว่า กรุงเทพมหานครกลับมีพื้นที่สีเขียวน้อยเกินกว่าที่จะช่วยดูดซับฝุ่นพิษเหล่านี้เอาไว้ โดยกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะ 34 แห่ง คิดเป็นพื้นที 22,440 ไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วนพื้นที่สีเขียว 6.31 ตร.ม./ คน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ได้กำหนดค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในเมืองควรอยู่ที่ 9 ตร.ม./คน
แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ“การแก้ไขปัญหามลพิษ ด้านฝุ่นละออง”
วิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในปีนี้ ทำให้สาธารณะเริ่มเห็นการนำแนวทางที่กำหนดในแผนฯ มาใช้แก้ไขปัญหาเป็นครั้งแรก และเป็นที่จับตาว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าประสบปัญหาฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ในระดับวิกฤต ซึ่งส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและอาจก่อมะเร็งได้ อย่างกรุงเทพมหานครนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
ปัญหาฝุ่นฯ PM 2.5 เริ่มเป็นที่รับรู้ในสังคมในวงกว้างในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เมื่อมีการติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่นครอบคลุมพื้นที่กว่า 50 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร ทำให้พบว่า เมืองหลวงของประเทศไทยแห่งนี้กำลังเผชิญกับฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ที่มีความหนาแน่นเกินค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ที่ 50 มคก./ ลบ.ม.
จากสถานการณ์ฝุ่นฯ เกินมาตรฐานในช่วงต้นปีที่แล้ว นำมาสู่การประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นครั้งแรกเพื่อพิจารณาปัญหาเรื่องฝุ่นควันพิษนี้โดยเฉพาะ ก่อนจะนำมาสู่การกำหนดแนวทาง และมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑลและในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางและมาตรการฯ เมื่อวันที่ 5กุมภาพันธ์ 2562 และมีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ ในอาทิตย์ถัดมา
หลังจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและ ครม.ได้มีมติเห็นชอบในเดือนสิงหาคมและตุลาคม เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดาเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศและในพื้นที่วิกฤต
โดย มาตรการแก้ไขปัญหาตามแผนปฏิบัติการฯ แบ่งการจัดการเชิงพื้นที่และระยะเวลา อาทิ พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล, กลุ่ม9จังหวัดภาคเหนือ เป็นต้น โดยมีมาตรการที่แตกต่างกัน แต่มุ่งจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่แตกต่างกันไปเป็นหลัก
ซึ่งมาตรการดังกล่าว สามารถแบ่งออกเป็น 3 มาตรการหลักๆ คือ มาตรการที่1 การบริหารจัดการเชิงพื้นที่(ใช้กับระยะเร่งด่วนและวิกฤติเป็นหลัก), มาตรการที่2 การป้องกันและลดแหล่งมลพิษจากแหล่งกำเนิด (ใช้กับระยะกลาง2562-2564/ระยะยาว2565-2567), และ มาตรการที่3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ
ในมาตรการที่1 ซึ่งเน้นการจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้าหรือระยะสั้น ยังแบ่งออกเป็น ระยะก่อนวิกฤต, ระยะเร่งด่วน/ช่วงวิกฤต, และระยะหลังวิกฤต โดยระยะเร่งด่วน/ช่วงวิกฤติ ได้รับการให้ความสำคัญในแผนฯ เป็นพิเศษ โดยมีการแบ่งการจัดการตามค่าความหนาแน่นของฝุ่นฯ PM 2.5 ในช่วงเวลานั้น เป็น 4 ระดับ คือ
1.PM 2.5 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร: หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภาระกิจเพื่อควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
2. PM 2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร: หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับมาตรการ/ผู้ว่าฯ บัญชาการ
3. Pm 2.5 มีค่าระหว่าง 75-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร: ผู้ว่าฯ มีอำนาจสั่งการตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องตามคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษเพื่อควบคุมพื้นที่และแหล่งกำเนิดมลพิษ
4. PM 2.5 เกิน100ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง: คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเรียกประชุม เสนอนายกฯ สั่งการ
จุดอ่อน
อาจารย์สนธิกล่าวว่า แม้รัฐบาลจะได้กำหนดให้ฝุ่นฯ PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ และมีแผนฯ แก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่แผนฯ ดังกล่าว ยังมีจุดอ่อนสำคัญที่อาจทำให้การดำเนินการไม่ได้ผลอย่างที่วางแผน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ
จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการ พบว่า แผนฯ ยัง ไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริง หรือหน่วยงานหลักในการสั่งการแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ (single command) โดย คพ. ทำหน้าที่แจ้งข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และประสานงานให้หน่วยงานปฎิบัติไปดำเนินการเท่านั้น ซึ่งยังไม่สามารถจัดการปัญหาฝุ่นในช่วงที่เกินค่ามาตรฐานหรือเกิดวิกฤติได้ทันท่วงที
ซึ่งจุดนี้ มีความแตกต่างจากหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะมี USEPA ขึ้นตรงกับประธานาธิบดีโดยตรง หรือประเทศเกาหลีใต้ที่มีกฎหมายฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากประกาศให้ฝุ่นฯ PM 2.5เป็นภัยแล้ว หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นเจ้าภาพหลักซึ่งขึ้นต่อประธานาธิบดีโดยตรง จะสามารถประกาศสั่งการให้แก้ไขปัญหาได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้หน่วยงานปฎิบัติมาดำเนินการ
อาจารย์สนธิตั้งข้อสังเกตว่า แม้ประเทศไทย มี พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 สามารถประกาศให้ฝุ่น PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานเป็นภัยธรรมชาติและอาศัยอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการ แต่กลับพบว่า ยังไม่มีจังหวัดใดกล้าประกาศจริง
ในขณะเดียวกัน ข้อมูลพื้นฐานที่จะใช้ในการกำหนดทิศทางการวางแผนดำเนินการ เป็นอีกส่วนที่สำคัญที่ขาดหายไปจากแผนฯ ในเวลานี้
อาจารย์สนธิกล่าวว่า ระบบการคาดการณ์ความรุนแรงของฝุ่นฯ PM 2.5 ที่มีอยู่ในเวลานี้ ไม่สามารถแจ้งเตือนสถานการณ์แบบเรียลไทม์ หากแต่ย้อนหลังไปถึง 24 ชั่วโมง แม้จะมีการคำนวณที่เป็นมาตรฐาน
ยิ่งไปกว่านั้น การคาดการณ์ดังกล่าว ยังไม่มีความชัดเจนหรือแม่นยำพอ อันเนื่องมาจากข้อมูลที่ใช้สำหรับการคำนวณยังไม่ละเอียดมากพอและครบถ้วน ทั้งนี้ เนื่องจาก ข้อมูลสภาพอากาศที่นำมาใช้ในการคำนวณ มาจากกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งใช้เครื่องมือเพื่อวัดเพื่อการพยากรณ์อากาศเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อทำนายปริมาณฝุ่นฯ PM 2.5 ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า อาทิเช่น กรมอุตุนิยมวิทยาจะทำการตรวจวัดความเร็วและทิศทางลมรวมทั้งความชื้นที่ระดับยอดหญ้า ซึ่งถ้าจะได้ข้อมูลสภาพอากาศที่เอามาใช้ทำนายปริมาณฝุ่นฯ PM 2.5 ต้องเป็นเครื่องมือวัดลมที่สูงอย่างน้อย 10 เมตรขึ้นไป รวมทั้งต้องติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดความสูงของภาวะอุณหภูมิผกผัน(Temperature inversion)
“ณ เวลานี้ เราจึงตอบหรือคาดการณ์ไม่ได้ว่า ฝุ่นฯ ณ เวลานั้นๆ หรือล่วงหน้าจะรุนแรงแค่ไหน นานกี่วัน หรือครอบคลุมไกลขนาดไหน เราจึงบอกหรือเตือนประชาชนไม่ได้” อาจารย์สนธิกล่าว
องค์กรภาคประชาชนที่คอยตรวจสอบเรื่องมลพิษ กรีนพีซ ประเทศไทย ได้ออกมาสนับสนุนการสร้างข้อมูลสาธารณะเดี่ยวกับฝุ่นพิษนี้ โดยเสนอว่า เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศราคาต่ำ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเมืองและชุมชนเพื่อเร่งการเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศตามเวลาจริงและเป็นข้อมูลของพื้นที่นั้นๆ
นอกจากนี้ กรีนพีซยังเรียกร้องให้รัฐสร้างระบบกฎหมายอากาศสะอาด และกฏหมายที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคที่จะผลักดันให้รัฐบาลแต่ละประเทศให้ความสำคัญต่อประชาชนและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบให้บริษัทมีความโปร่งใสและมีภาระรับผิดต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ซึ่งกรีนพีซกล่าวว่า เป็นหัวใจหลักของความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนปี2545 ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหามลพิษด้านอากาศข้ามพรมแดนอีกทางหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยมักได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามพรมแดนทางภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ
สนธิเห็นด้วยกับการผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด รวมถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพราะในอนาคต จะช่วยทำให้มีแนวทางและกลไกที่จะมาดูแลเรื่องมลพิษทางอากาศ หรือมลพิษอื่นๆ ทั้งระบบโดยเฉพาะ ซึ่งนับวันมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ทุกวันนี้ เราไม่มีกฎหมายที่จะจัดการมันโดยตรง นั่นหมายถึง เราไม่มีกลไก check and balance ที่มีประสิทธิภาพ เพราะเราส่งเสริมแต่เศรษฐกิจมากกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม
"ในระยะยาว เราก็ต้องมี clean air act, water act, เป็นนโยบายระยะยาวที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป แต่ตอนนี้ จัดการวิกฤติให้ได้ก่อน” อาจารย์สนธิกล่าว